หน้าเว็บ

บทที่ 1ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

บทที่ 1
บทนำ

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
สภาวะโลกปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การปรับเปลี่ยนปฏิรูปสังคมไปสู่ความเป็นสังคมใหม่ ประกอบกับแนวคิดใหม่ของการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มุ่งพัฒนาคนให้เป็นคนที่สมบูรณ์ มีความสมดุลทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์และสังคม สามารถพัฒนาตนเองและสามารถร่วมมือกับผู้อื่นได้อย่างสร้างสรรค์ จึงต้องมีการจัดทำหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มสาระที่จำเป็นต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้เรียน
สาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยีเป็นกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่มุ่งพัฒนา ให้เป็นคนที่สมบูรณ์และสมดุล ทั้งด้านจิตใจ ร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม โดยมุ่งเน้นการพัฒนาให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถทั้งด้านวิชาการ วิชางาน และวิชาชีวิต เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขสามารถพึ่งตนเองได้ อยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างสร้างสรรค์ พัฒนาสังคม และสิ่งแวดล้อม สาระการเรียนรู้กลุ่มสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยี เป็นกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะในการทำงาน ทำงานเป็น รักการทำงาน ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ มีความสามารถในการจัดการ การวางแผนออกแบบการทำงาน สามารถนำเอาความรู้เทคโนโลยี และเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในการทำงานสร้างและพัฒนางานผลิตภัณฑ์ ตลอดจนวิธีการใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพของงานและการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
การเรียนรู้ที่มุ่งพัฒนาให้ผู้เรียนเกิดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับงานอาชีพและเทคโนโลยี มีทักษะการทำงาน ทักษะการจัดการสามารถนำเทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ในการทำงานได้อย่างถูกต้องเหมาะสม คุ้มค่าและมีคุณธรรม สร้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือวิธีการใหม่ สามารถทำงานเป็นหมู่คณะ มีนิสัยรักการทำงาน เห็นคุณค่าและมีเจตคติที่ดีต่อการงานตลอดจนมีคุณธรรม จริยธรรมและค่านิยมที่เป็นพื้นฐาน ได้แก่ ความขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัดและอดทน อันจะนำไปสู่การให้ผู้เรียนสามารถช่วยเหลือตนเองและพึ่งตนเองได้ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่าง มีความสุข ร่วมมือและแข่งขันในระดับสากลในบริบทของสังคมไทยได้อย่างยั่งยืน

เมื่อจบการศึกษาขั้นพื้นฐานในกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยีแล้วผู้เรียนจะมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ดังนี้ คือมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำรงชีวิตและ ครอบครัว การอาชีพ การออกแบบและเทคโนโลยี เทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีเพื่อการทำงานและอาชีพ มีทักษะในการทำงาน การประกอบอาชีพ การจัดการ การแสวงหาความรู้ เลือกใช้เทคโนโลยีและเทคโนโลยีสารสนเทศในการทำงาน สามารถทำงานอย่างมีกลยุทธ์ สร้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือวิธีการใหม่
มีความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์ ขยัน อดทน รักการทำงาน ประหยัด อดออม ตรงต่อเวลา เอื้อเฟื้อ เสียสละ และมีวินัยในการทำงาน เห็นคุณค่าความสำคัญของงานและอาชีพสุจริตตระหนัก
ถึงความสำคัญของสารสนเทศ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและพลังงาน
ทั้งนี้ผู้สอนและผู้เรียนอาจเรียนรู้ไปพร้อมกันจากสื่อการเรียนการสอนและแหล่ง วิทยาการประเภทต่าง ๆ และการจัดการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ มีการประสานความร่วมมือกับบิดามารดาและบุคลากรในชุมชนทุกฝ่าย เพื่อร่วมกันพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพ เพื่อทำให้การเรียนการสอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงต้องมีการนำสื่อการสอนมาใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพุทธศักราช 2542 มาตรา 64 กล่าวว่า รัฐต้องส่งเสริมสนับสนุนให้มีการผลิต และพัฒนาแบบเรียน ตำราหนังสือทางวิชาการ สื่อสิ่งพิมพ์ วัสดุอุปกรณ์และเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาอื่น โดยเร่งพัฒนาความสามารถในการผลิต จัดให้มีเงินสนับสนุนการผลิต มีการให้แรงจูงใจแก่ผู้ผลิต และพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ทั้งนี้โดยเปิดให้มีการแข่งขันโดยเสรี อย่างเป็นธรรม และหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2544 มุ่งเน้นให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเอง เรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต และใช้เวลาอย่าง สร้างสรรค์ รวมทั้งมีความยืดหยุ่น สนองความต้องการของผู้เรียน ชุมชน สังคมและประเทศชาติ ผู้เรียนสามารถเรียนได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ และเรียนรู้ได้จากสื่อการเรียนรู้และแหล่งการเรียนรู้ทุกประเภทรวมทั้งจากเครือข่ายการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในท้องถิ่น ชุมชนและแหล่งอื่น ๆ เน้นสื่อที่ผู้เรียนและผู้สอนใช้ศึกษาค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง ผู้เรียน ผู้สอนสามารถจัดทำและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ขึ้นเอง หรือนำหนังสือต่าง ๆ ที่มีอยู่รอบตัว และระบบสารสนเทศมาใช้ในการเรียนรู้ โดยใช้วิจารณญาณในการเลือกใช้สื่อและแหล่งความรู้โดยเฉพาะหนังสือเรียนควรมีเนื้อหาสาระครอบคลุมตลอดช่วงชั้น สื่อสิ่งพิมพ์ ควรจัดให้มีอย่างเพียงพอ ทั้งนี้ให้ผู้เรียนสามารถยืมได้จากศูนย์สื่อหรือห้องสมุดสถานศึกษา (กรมวิชาการ, 2544, หน้า 23)
สื่อการเรียนรู้ที่นำมาใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนวิชาการงานอาชีพ ในระดับชั้นมัธยมศึกษา ได้แก่ หนังสือแบบเรียน หนังสืออ่านเพิ่มเติม สื่อสิ่งพิมพ์อื่น ๆ ของจริง วีซีดี ดีวีดี เครือข่ายอินเทอร์เน็ต จะเห็นได้ว่าสื่อมีเป็นจำนวนมากผู้สอนต้องมีวิจารณญาณในการ

เลือกใช้ให้เหมาะสม จึงจะทำให้หนังสือเป็นสื่อที่มีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์ และประหยัดมากที่สุด ดังนั้นการศึกษาในปัจจุบันจึงได้มีการส่งเสริม สนับสนุนให้มีการใช้หนังสือแบบเรียนประกอบการเรียนการสอนในชั้นเรียนมากยิ่งขึ้น มีนักการศึกษาหลายท่านได้กล่าวถึงความสำคัญและประโยชน์ของหนังสือไว้ ดังนี้
สนิท สัตโยภาส (2536, หน้า 5-6) กล่าวถึงการอ่านหนังสือว่า มีความสำคัญต่อชีวิตในปัจจุบันมาก จะเห็นได้จากชีวิตวัยเยาว์ต้องใช้การอ่านเพื่อพัฒนาชีวิตให้สมบูรณ์ขึ้นเรื่อย ๆ โดยการศึกษาเล่าเรียน ค้นคว้า หาความรู้ และประสบการณ์จากการอ่านหนังสือหลายประเภทนอกเหนือจากหนังสือเรียน เพราะปัจจุบันวิทยาการต่าง ๆ เจริญไปมากจนไม่สามารถบรรจุลงในหนังสือเรียนให้นักเรียนได้เรียนรู้จากหนังสือหลาย ๆ เล่ม หลาย ๆ ประเภท เพื่อจะได้มีความคิดกว้างไกล ฉลาด รอบรู้และมีจินตนาการ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ อีกทั้งเป็นสื่อการเรียน การสอนที่มีประสิทธิภาพ ประหยัดที่สุด การศึกษาในปัจจุบันจึงนิยมใช้หนังสือ แบบเรียนประกอบการเรียนการสอนในชั้นเรียน และใช้หนังสืออ่านเพิ่มเติมสำหรับศึกษารายละเอียดของเนื้อหาให้ลึกซึ้งตามความต้องการของนักเรียน
วชิราพร สุวรรณศรวล (2543, หน้า 12) ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการเลือกหนังสือสำหรับเด็กว่า การที่ให้เด็กอ่านหนังสือที่เหมาะสมกับวัย ความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ของเด็ก เรื่องราวในหนังสือสนุกสนาน ทำให้เด็กชอบอ่านก็จะเป็นการพัฒนาสติปัญญา อารมณ์และจิตใจ และหนังสือยังช่วยให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งแวดล้อม ช่วยปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม และสังคมได้อย่างเหมาะสม หนังสือยังช่วยให้เด็กมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด สามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ ดังนั้นหนังสือควรพัฒนาเนื้อเรื่องให้ทันสมัย ทันต่อเหตุการณ์ของโลกตลอดเวลาจึงจะทำให้หนังสือมีคุณค่า
อรอนงค์ โชคสกุล และศรีอัมพร ประทุมนันท์ (2544, หน้า 60) กล่าวถึงคุณค่าของหนังสือที่เด็กชอบว่า เด็ก ๆ จะได้ประโยชน์จากผลของการอ่านหนังสือสำหรับเด็กดังนี้ ได้รับความรู้ ความคิด จากหนังสือมากมาย ได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลินจากการอ่านหนังสือ ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ และจินตนาการให้ต้องคิด ทำให้เด็กเป็นคนมีอารมณ์แจ่มใส ไม่สับสนวุ่นวาย นอกจากผลประโยชน์ดังกล่าวแล้ว หนังสือที่จัดทำขึ้นสำหรับเด็กทั้งในด้านเนื้อหาสาระและการสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรมไว้ด้วย ย่อมทำให้หนังสือเหล่านี้มีคุณค่าสำหรับเด็กอีกหลายประการคือ เด็กได้เรียนรู้วิธีแก้ปัญหาจากเนื้อเรื่อง เด็กได้ทราบถึงความเป็นจริงรอบตัวเด็กได้รับความสนุกสนานร่วมกัน จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่าหนังสืออ่านเพิ่มเติมมีความสำคัญต่อการเรียนรู้ของมนุษย์เป็นอย่างมาก การเลือกหนังสือให้เหมาะสมกับผู้อ่านก็จะได้รับประโยชน์มากยิ่งขึ้น

ผู้สอนรับผิดชอบการจัดการเรียนสอนรายวิชาการปลูกปาล์มน้ำมัน รหัสวิชา ง30215 ซึ่งเป็นรายวิชาเพิ่มเติมในกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนสิชลประชาสรรค์ ตำบลทุ่งใส อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครศรีธรรมราช เขต 4 ในปีการศึกษา 2550 พบปัญหาในการจัดการเรียนการสอนสรุปได้ ดังนี้
1. หนังสือที่ใช้ประกอบการเรียนการสอนสาระเพิ่มเติม วิชาการปลูกปาล์มน้ำมัน ที่เป็นแบบเรียนไม่มีการผลิตออกมาจำหน่ายในท้องตลาด ทำให้นักเรียนขาดสื่อในการศึกษาหาความรู้ในการศึกษาวิชาการปลูกปาล์มน้ำมัน รหัสวิชา ง30215
2. หนังสือเกี่ยวกับการปลูกปาล์มน้ำมันที่มีจำหน่ายในท้องตลาดโดยทั่วไป เขียนโดยใช้ภาษาอ่านยากไม่เหมาะกับวัยของนักเรียนทำให้สื่อสารกันไม่เข้าใจ และหนังสือมีราคาแพง
3. มีเนื้อหาสาระไม่ตรงตามหลักสูตรสถานศึกษา
ดังนั้นการสร้างหนังสืออ่านเพิ่มเติม เรื่องการปลูกปาล์มน้ำมัน จึงเป็นแนวทางหนึ่ง ที่ช่วยให้นักเรียนได้มีหนังสือสำหรับใช้ศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง โดยผู้สอนได้ศึกษาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2544 และหลักสูตรสถานศึกษา ซึ่งผู้สอนได้วิเคราะห์หลักสูตร จุดประสงค์การเรียนรู้ จัดทำคู่มือการใช้หนังสืออ่านเพิ่มเติม ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการสร้างหนังสืออ่านเพิ่มเติม รวบรวมเนื้อหาจากเอกสารต่าง ๆ รวมทั้งประสบการณ์ของผู้สอนเอง จากการอบรมและการสอนภาคปฏิบัติวิชาการปลูกปาล์มน้ำมันในโรงเรียน ผู้สอนจึงสร้างหนังสืออ่านเพิ่มเติม เรื่องการปลูกปาล์มน้ำมันขึ้นมา มีความสมบูรณ์ และทันสมัยอิงหลักสูตรสถานศึกษา ตรงตามหลักสูตรสถานศึกษาพร้อมจะให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ใช้ศึกษาและผู้สนใจทั่วไป

วัตถุประสงค์ของการศึกษาค้นคว้า
1. เพื่อสร้างหนังสืออ่านเพิ่มเติม เรื่องการปลูกปาล์มน้ำมันสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ใช้อ่านเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มพูนความรู้ เรื่องการปลูกปาล์มน้ำมัน ในการเรียนรายวิชา รหัส ง30215 เรื่องการปลูกปาล์มน้ำมัน ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80
2. เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ก่อนและหลังการอ่านหนังสืออ่านเพิ่มเติม เรื่องการปลูกปาล์มน้ำมันสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
3. เพื่อศึกษาเจตคติของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่มีต่อหนังสืออ่านเพิ่มเติม เรื่องการปลูกปาล์มน้ำมันสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3

สมมติฐานของการศึกษาค้นคว้า
1. หนังสืออ่านเพิ่มเติม เรื่องการปลูกปาล์มน้ำมันสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หลังจากการอ่านหนังสืออ่านเพิ่มเติม เรื่องการปลูกปาล์มน้ำมันสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 สูงกว่าก่อนการอ่าน
3. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีเจตคติที่ดีต่อหนังสืออ่านเพิ่มเติม เรื่องการปลูกปาล์มน้ำมันสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3

ประโยชน์ของการศึกษาค้นคว้า
1. เป็นการเพิ่มแหล่งเรียนรู้วิชารหัส ง30215 การปลูกปาล์มน้ำมัน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และผู้ที่สนใจทั่วไป
2. ใช้อ่านประกอบในวิชารหัส ง30215 การปลูกปาล์มน้ำมัน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
3. เป็นแนวทางในการสร้างหนังสืออ่านเพิ่มเติมใช้ประกอบการเรียนในการเรียน การสอนในเรื่องอื่น ๆ หรือรายวิชาอื่น

ขอบเขตของการศึกษาค้นคว้า
1. ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
ประชากรที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้าในครั้งนี้ ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2550 โรงเรียนสิชลประชาสรรค์ ตำบลทุ่งใส อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 253 คน
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2550 โรงเรียนสิชลประชาสรรค์ ตำบลทุ่งใส อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 30 คน เลือกกลุ่มตัวอย่างเป็นรายบุคคลด้วยวิธีการสุ่มอย่างง่าย (simple random sampling)

2. เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้า
2.1 หนังสืออ่านเพิ่มเติม เรื่องการปลูกปาล์มน้ำมันสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มี 5 หน่วย คือ

หน่วยที่ 1 ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับปาล์มน้ำมัน
หน่วยที่ 2 ขั้นตอนการปลูกปาล์มน้ำมัน
หน่วยที่ 3 การดูแลรักษาปาล์มน้ำมัน
หน่วยที่ 4 การเก็บเกี่ยวและการจัดการผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยวปาล์มน้ำมัน
หน่วยที่ 5 การบันทึกข้อมูลการตลาด ต้นทุนและระบบบัญชีในการปลูกปาล์มน้ำมัน
2.2 แบบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หนังสืออ่านเพิ่มเติม เรื่องการปลูกปาล์มน้ำมันสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
2.3 แบบวัดเจตคติต่อหนังสืออ่านเพิ่มเติม เรื่องการปลูกปาล์มน้ำมันสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
2.4 แบบสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับหนังสืออ่านเพิ่มเติม เรื่องการปลูกปาล์มน้ำมันสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3

3. ตัวแปรที่ศึกษา
3.1 ตัวแปรอิสระ ได้แก่ หนังสืออ่านเพิ่มเติม เรื่องการปลูกปาล์มน้ำมันสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
3.2 ตัวแปรตาม ได้แก่
3.2.1 ประสิทธิภาพของหนังสืออ่านเพิ่มเติม เรื่องการปลูกปาล์มน้ำมันสำหรับ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
3.2.2 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หลังจากการอ่านหนังสืออ่านเพิ่มเติม เรื่องการปลูกปาล์มน้ำมันสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
3.2.3 เจตคตินักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่มีต่อหนังสืออ่านเพิ่มเติม เรื่องการปลูกปาล์มน้ำมันสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3

4. ระยะเวลาในการดำเนินการทดลอง
การทดลองใช้เวลา 30 วัน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1-30 มกราคม 2551

นิยามศัพท์เฉพาะ
1. หนังสืออ่านเพิ่มเติม เรื่องการปลูกปาล์มน้ำมันสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หมายถึง หนังสือที่ผู้ศึกษาค้นคว้าสร้างขึ้นเพื่อเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับการปลูกปาล์มน้ำมันสำหรับนักเรียน ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
2. เกณฑ์มาตรฐาน 80/80 หมายถึง ประสิทธิภาพของหนังสืออ่านเพิ่มเติม เรื่องการปลูกปาล์มน้ำมันสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งมีความหมาย ดังนี้
80 ตัวแรก หมายถึง คะแนนเฉลี่ยของนักเรียนในกลุ่มตัวอย่างที่ได้จากการ ทำคำถามท้ายหน่วย ของหนังสืออ่านเพิ่มเติม เรื่องการปลูกปาล์มน้ำมันสำหรับนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ได้คะแนนเฉลี่ยอย่างน้อยร้อยละ 80 ของคะแนนเต็ม
80 ตัวหลัง หมายถึง จำนวนนักเรียนในกลุ่มตัวอย่าง อย่างน้อยร้อยละ 80 ของ นักเรียนทั้งกลุ่ม ซึ่งได้จากการทำคำถามท้ายหน่วย ของหนังสืออ่านเพิ่มเติม เรื่องการปลูกปาล์มน้ำมันสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ถูกต้องอย่างน้อยร้อยละ 80 ของคะแนนเต็ม
3. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หมายถึง คะแนนที่ได้จากการทำแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของหนังสืออ่านเพิ่มเติม เรื่องการปลูกปาล์มน้ำมันสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยวัดความสามารถต่าง ๆ ดังนี้
3.1 ด้านความรู้ความจำ หมายถึง ความสามารถในการระลึกถึงสิ่งที่เคยเรียน ไปแล้ว เกี่ยวกับข้อเท็จจริง ความคิดรวบยอด หลักการทางการปลูกปาล์มน้ำมัน
3.2 ด้านความเข้าใจ หมายถึง ความสามารถในการจับใจความสำคัญของเรื่อง เนื้อหา เพื่อนำมาแปลความ ตีความ ขยายความในเรื่องการปลูกปาล์มน้ำมัน
3.3 ด้านการนำไปใช้ หมายถึง ความสามารถในการนำความรู้ที่ได้ ตลอดจน วิธีการต่าง ๆ ในการปลูกปาล์มน้ำมันไปใช้ในสถานการณ์ใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน
3.4 วิเคราะห์ สังเคราะห์ หมายถึง ความสามารถในการปฏิบัติ การเตรียมดิน การปลูก การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว การจัดการผลผลิต การขาย การทำบัญชีต่าง ๆ รวมถึงเทคนิควิธีการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ ความสามารถในเรื่องการปลูกปาล์มน้ำมัน
4. เจตคติต่อหนังสืออ่านเพิ่มเติม หมายถึง ความรู้สึก ความคิดเห็น หรือความ เอนเอียงของจิตใจต่อการอ่านหนังสืออ่านเพิ่มเติม เรื่องการปลูกปาล์มน้ำมันสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3

5. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หมายถึง นักเรียนกลุ่มตัวอย่างโรงเรียนสิชล ประชาสรรค์ ตำบลทุ่งใส อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2550 ที่เรียนวิชาการปลูกปาล์มน้ำมัน

1 ความคิดเห็น:

  1. มันยาวไปอ่านไม่ค่อยรู็เรื่องเท่าไรค่ะ

    ตอบลบ