หน้าเว็บ

บทที่ 2 เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

บทที่ 2
เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

ในการสร้างหนังสืออ่านเพิ่มเติม เรื่องการปลูกปาล์มน้ำมันสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ผู้สร้างศึกษาเอกสารและงานวิจัยเพื่อเป็นแนวทางในการสร้าง และหาประสิทธิภาพของหนังสืออ่านเพิ่มเติม มีเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1. พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพุทธศักราช 2542
2. หลักสูตรสถานศึกษากลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี
3. ความรู้เกี่ยวกับหนังสืออ่านเพิ่มเติม
4. เอกสารเกี่ยวกับการหาประสิทธิภาพหนังสืออ่านเพิ่มเติม
5. เอกสารเกี่ยวกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
6. เอกสารเกี่ยวกับเจตคติ
7. งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับหนังสืออ่านเพิ่มเติม

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพุทธศักราช 2542
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพุทธศักราช 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 หมวด 4 แนวการจัดการศึกษา มาตรา 22 กล่าวว่า การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียน ทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนา และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตนเองตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพในมาตรา 24 ได้กล่าวถึงการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการดังต่อไปนี้
1. จัดเนื้อหาและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจและความถนัดของผู้เรียนโดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล
2. ฝึกทักษะ กระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์ และการประยุกต์ความรู้มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ปัญหา
3. จัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกการปฏิบัติให้ทำได้ คิดเป็น ทำเป็น รักการอ่านและใฝ่เรียน ใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง
4. จัดการเรียนการสอนโดยผสมผสานสาระความรู้ด้านต่าง ๆ อย่างได้สัดส่วน สมดุลกัน รวมทั้งปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยมที่ดีงามและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ไว้ทุกรายวิชา
5. ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สอนสามารถจัดบรรยากาศ สภาพแวดล้อม สื่อการเรียนและอำนวยความสะดวก เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ และมีความรอบรู้รวมทั้งสามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ ทั้งนี้ทั้งผู้สอนและผู้เรียนอาจเรียนรู้ไปพร้อมกันจากสื่อการเรียนและแหล่งวิทยาการประเภทต่าง ๆ
กรมวิชาการ (2544) ได้กำหนดแนวทางในการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ การงานอาชีพและเทคโนโลยี ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 ว่าแนวทาง กิจกรรมในส่วนของการจัดกระบวนการเรียนรู้ มาตรา 24 ได้ระบุให้สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้ (กรมวิชาการ, 2544, หน้า 35-36)
1. จัดเนื้อหา สาระ และกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจ และความถนัดของ ผู้เรียนโดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล
2. ฝึกทักษะกระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์ และการประยุกต์ความรู้มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา
3. จัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกปฏิบัติและการประยุกต์ ความรู้มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา
4. จัดการเรียนการสอนโดยผสมผสานสาระความรู้ต่าง ๆ อย่างได้สัดส่วนสมดุลกันรวมทั้งปลูกฝังคุณธรรม ค่านิยมที่ดีงามและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ไว้ในทุกวิชา
5. ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สอนสามารถจัดบรรยากาศ สภาพแวดล้อม สื่อการเรียนและ
อำนวยความสะดวก เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียน และมีความรอบรู้ รวมทั้งสามารถใช้การวิจัยเป็น
ส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ ทั้งนี้ทั้งผู้สอน และผู้เรียนอาจเรียนรู้ไปพร้อมกันจากสื่อการสอน
และแหล่งวิทยาการประเภทต่าง ๆ
6. จัดการเรียนรู้ให้เกิดได้ทุกเวลาทุกสถานที่ มีการประสานความร่วมมือ กับบิดามารดา ผู้ปกครองและบุคคลในชุมชนทุกฝ่าย เพื่อร่วมกันพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพ

หลักสูตรสถานศึกษากลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี
1. ความสำคัญของกลุ่มสาระการเรียนรู้
กลุ่มสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยี เป็นสาระการเรียนที่มุ่งพัฒนา ให้ผู้เรียนมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับงานอาชีพและเทคโนโลยี และมีทักษะในการทำงาน ทักษะการจัดการ สามารถนำเทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ในการทำงานอย่างถูกต้องเหมาะสม คุ้มค่าและมีคุณธรรม จริยธรรมและค่านิยมพื้นฐาน ได้แก่ ความขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด อดทน อันจะนำไปสู่การให้ผู้เรียน สามารถช่วยเหลือตนเองและพึ่งตนเองได้ตามพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ร่วมมือ และแข่งขันในระดับสากล ในบริบทของสังคมไทย

2. คุณภาพผู้เรียน
กลุ่มสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยี มุ่งพัฒนาผู้เรียนแบบองค์รวมเพื่อให้เป็นคนดีมีความรู้ความสามารถ โดยมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ดังนี้
2.1 มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ การดำรงชีวิตและครอบครัว การงานอาชีพและเทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีเพื่อการทำงานและอาชีพ
2.2 มีทักษะการทำงานการประกอบอาชีพ การจัดการ การแสวงหาความรู้ เลือกใช้เทคโนโลยีและเทคโนโลยีสารสนเทศ ในการทำงาน สามารถทำงานอย่างมีกลยุทธ์ สร้างพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือวิธีการใหม่ ๆ
2.3 มีความรับผิดชอบ ขยัน อดทน ซื่อสัตย์ รักการทำงาน ประหยัด อดออม ตรงต่อเวลา เอื้อเฟื้อ เสียสละ และมีวินัยในการทำงาน เห็นคุณค่าความสำคัญของงานอาชีพสุจริต ตระหนักถึงความสำคัญของสารสนเทศ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและพลังงาน
จากองค์ประกอบดังกล่าวจึงทำให้กลุ่มสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยี มีจุดเน้น ในการสร้างคุณภาพนักเรียน ดังนี้
2.3.1 มีความคิดสร้างสรรค์ ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน รักการอ่าน รักการเขียน และรักการค้นคว้า
2.3.2 มีความรู้อันเป็นสากล รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงและความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการ มีทักษะ และศักยภาพในการจัดการการสื่อสารและการใช้เทคโนโลยี ปรับวิธี การคิด วิธีการทำงานได้เหมาะสมกับสถานการณ์
2.3.3 รักการออกกำลังกาย ดูแลตนเองให้มีสุขภาพและบุคลิกภาพที่ดี
2.3.4 มีประสิทธิภาพในการผลิตและการบริโภค มีค่านิยมเป็นผู้ผลิตมากกว่าผู้บริโภค
2.3.5 มีทักษะและกระบวนการ โดยเฉพาะทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ทักษะการคิด การสร้างปัญญาและทักษะในการดำเนินชีวิต
2.3.6 เข้าใจในประวัติศาสตร์ของชาติไทย ภูมิใจในความเป็นไทย เป็นพลเมืองดี ยึดมั่นในวิถีชีวิต และรักการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
2.3.7 มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ภาษาไทย ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี กีฬา ภูมิปัญญาไทย ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
2.3.8 รักประเทศชาติและท้องถิ่น มุ่งทำประโยชน์และสร้างสิ่งที่ดีงามให้สังคม

3. สาระและขอบข่ายกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี
สาระและขอบข่ายกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี ประกอบด้วย 5 สาระ ดังนี้
3.1 สาระที่ 1 การดำรงชีวิตและครอบครัว เป็นสาระที่เกี่ยวกับการทำงานในชีวิตประจำวันทั้งในระดับครอบครัว ชุมชน และสังคม ที่ว่าด้วยงานบ้าน งานเกษตร งานช่าง งานประดิษฐ์ และงานธุรกิจ
3.1.1 งานบ้านเป็นงานเกี่ยวกับการทำงานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในครอบครัวซึ่งประกอบด้วยบ้านและชีวิตความเป็นอยู่ภายในบ้าน ผ้าและเครื่องแต่งกาย อาหารและโภชนาการ โดยเน้นการปลูกฝังลักษณะนิสัยการทำงาน ทักษะ กระบวนการทำงาน การแก้ปัญหาในการทำงาน มีความรับผิดชอบ สะอาด มีระเบียบวินัย ประหยัด อดออม อนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม
3.1.2 งานเกษตร เป็นงานที่เกี่ยวกับการทำงานในชีวิตประจำวัน ซึ่งประกอบ ด้วย การปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ตามกระบวนการผลิตและการจัดการผลผลิต มีการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเพิ่มผลผลิต ปลูกฝังความรับผิดชอบ ขยัน อดทน และการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม
3.1.3 งานช่าง เป็นงานที่เกี่ยวกับการทำงานตามกระบวนการของงานช่าง ซึ่งประกอบด้วยการบำรุงรักษา การติดตั้ง/ประกอบ การซ่อมและการผลิต เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน
3.1.4 งานประดิษฐ์ เป็นงานที่เกี่ยวกับการทำงานด้านการประดิษฐ์สิ่งของเครื่องใช้ที่เน้นความคิดสร้างสรรค์ โดยเน้นความประณีตสวยงามตามกระบวนการงานประดิษฐ์และเทคโนโลยี และเน้นการอนุรักษ์สืบสานศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีไทยตาม ภูมิปัญญาท้องถิ่นและสากล
3.1.5 งานธุรกิจ เป็นงานที่เกี่ยวกับการจัดการด้านเศรษฐกิจครอบครัวการเป็นผู้บริโภค ที่ฉลาด
3.2 สาระที่ 2 การอาชีพเป็นสาระที่เกี่ยวข้องกับ หลักการ คุณค่า ประโยชน์ของการประกอบอาชีพสุจริต ตลอดจนการเห็นแนวทางในการประกอบอาชีพ
3.3 สาระที่ 3 การออกแบบและเทคโนโลยี เป็นสาระที่เกี่ยวกับ การพัฒนา ความสามารถของมนุษย์ในการแก้ปัญหา และสนองความต้องการของมนุษย์อย่างสร้างสรรค์ โดยนำความรู้มาใช้กับกระบวนการเทคโนโลยี สร้างและใช้สิ่งของเครื่องใช้ วิธีการและเพิ่ม ประสิทธิภาพในการดำรงชีวิต
3.4 สาระที่ 4 เทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นสาระเกี่ยวกับกระบวนการเทคโนโลยี สารสนเทศ การติดต่อสื่อสาร การค้นหาความรู้ การสืบค้น การใช้ข้อมูลและสารสนเทศ การ แก้ปัญหาหรือสร้างงาน คุณค่าและผลกระทบของเทคโนโลยีสารสนเทศ
3.5 สาระที่ 5 เทคโนโลยีเพื่อการทำงานและอาชีพ เป็นสาระที่เกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาใช้ในการทำงานที่เกี่ยวกับการดำรงชีวิตและครอบครัว และการอาชีพ
ในส่วนของงานเกษตรประกอบด้วย พืชและสัตว์ ดังรายละเอียดต่อไปนี้
พืช
1. การผลิตพืช
1.1 การเตรียมการก่อนปลูกพืช
1.1.1 การศึกษาข้อมูลและวางแผนเกี่ยวกับพืชที่ปลูก
1.1.2 การเตรียมเมล็ดพันธุ์ การเตรียมพันธุ์
1.1.3 การเตรียมดิน วัสดุและอุปกรณ์
1.2 การปลูก
1.3 การให้น้ำ
1.4 การปฏิบัติดูแลรักษา
1.4.1 ภายใต้ระบบเกษตรเคมี
1.4.2 ภายใต้ระบบเกษตรธรรมชาติ
1.5 การเก็บเกี่ยว
2. การจัดการผลผลิต
2.1 วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว
2.1.1 การทำความสะอาด
2.1.2 การคัดขนาด
2.1.3 การบ่ม
2.1.4 การบรรจุภัณฑ์
2.2 การใช้ประโยชน์ การถนอมอาหาร และการแปรรูป
2.3 การจัดจำหน่าย
2.3.1 การบันทึกรายรับ-รายจ่าย
2.3.2 การกำหนดราคาขาย
2.3.3 การขาย
3. ความปลอดภัยในการทำงาน
4. การอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม

ความรู้เกี่ยวกับหนังสืออ่านเพิ่มเติม
1. ความหมายของหนังสืออ่านเพิ่มเติม
กระทรวงศึกษาธิการ (2525, หน้า 2-3) กล่าวถึงหนังสืออ่านเพิ่มเติมว่า เป็นแบบเรียนอีกประเภทหนึ่งไม่บังคับใช้ เพียงแต่กระทรวงศึกษาธิการระบุรายชื่อ ไว้ในคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องการกำหนดแบบเรียนสำหรับเลือกใช้ในโรงเรียนประถมศึกษาสำหรับให้โรงเรียนจัดหาไว้ เพื่อบริการครูและนักเรียนในห้องสมุด หนังสืออ่านเพิ่มเติมเป็นหนังสือที่มีเนื้อหาสาระอิงหลักสูตรแต่มีรายละเอียดมากกว่า เขียนชวนอ่านมากกว่าแบบเรียน สำหรับให้ นักเรียนอ่านเพื่อศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง ตามความเหมาะสมของวัยและความสามารถในการอ่านของแต่ละบุคคล
จินตนา ใบกาซูยี (ม.ป.ป, หน้า 132) กล่าวว่า หนังสืออ่านเพิ่มเติมเป็นหนังสือที่มีเนื้อหาสาระอิงหลักสูตร สำหรับให้นักเรียนอ่านเพื่อศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมด้วยตนเองตามความเหมาะสมของวัยและความสนใจ ในการอ่านของแต่ละบุคคล
จินตนา ใบกาซูยี (ม.ป.ป, หน้า 134, อ้างในนันโท อ่อนเจริญ 2546, หน้า15) ได้ให้ความหมายว่าหนังสืออ่านเพิ่มเติม หมายถึง หนังสือที่บรรจุความรู้ ซึ่งอาจเป็นความรู้ ส่วนใดส่วนหนึ่งจากหลักสูตร หรือความรู้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นประโยชน์เสริม ประสบการณ์ให้แก่ผู้เรียน ซึ่งเป็นนักเรียนวัยต่าง ๆ มีลักษณะแนวการเขียนทั้งในแง่ให้ สาระประโยชน์โดยตรง ในลักษณะการเขียนแบบสารคดี และให้ความสนุกในลักษณะการเขียนแบบบันเทิงคดีปะปนอยู่ด้วย แต่เน้นหนักไปในแง่ให้สาระประโยชน์ ความรู้จะเป็นจุดประสงค์สำคัญของการเขียนหนังสืออ่านเพิ่มเติม
สมพร จารุนัฏ (2540, หน้า 3) กล่าวว่า หนังสืออ่านเพิ่มเติม หมายถึง หนังสือที่มีสาระอิงหลักสูตร สำหรับให้นักเรียนอ่าน เพื่อศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมด้วยตนเองตามความเหมาะสมของวัย และความสามารถในการอ่านของแต่ละบุคคล หนังสือประเภทนี้เคยเรียกว่า หนังสืออ่านประกอบ
จันทรา ทองสมัคร (2541, หน้า10) กล่าวว่า หนังสืออ่านเพิ่มเติม หมายถึง หนังสือที่มีเนื้อหาอิงหลักสูตร เป็นการนำเนื้อหาในหลักสูตรมาเขียนในลักษณะต่าง ๆ อาจเขียนในรูปร้อยแก้ว หรือร้อยกรองก็ได้ เพื่อให้เด็กอ่านเข้าใจเนื้อหาได้ง่าย และนักเรียนสามารถศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมด้วยตนเอง ตามความเหมาะสมของวัย และความสามารถในการอ่านของแต่ละบุคคล
คาร์เตอร์ วี กูด (Good, 1973, p. 187) ได้กล่าวถึงหนังสืออ่านเพิ่มเติมไว้ว่า เป็นหนังสือที่ใช้ประกอบการเรียนการสอนให้ได้ความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องต่าง ๆ ลึกซึ้งขึ้น
บุษกร มหาวงศ์ (2542, หน้า 20) กล่าวว่า หนังสืออ่านเพิ่มเติม หมายถึงหนังสือที่มีเนื้อหาสาระอิงหลักสูตร โดยมุ่งขยายประสบการณ์ของนักเรียน ให้กว้างขวางออกไปในรายละเอียดนอกเหนือจากแบบเรียน ใช้กลวิธีการเขียนในรูปแบบของสารคดีเป็นหลัก ส่งเสริมการค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองได้เหมาะสมกับวัยและความสามารถของเด็ก ให้ความเพลิดเพลินผสมผสานกันและมีเรื่องราวน่ารู้ ซึ่งจะทำให้เด็กรักการค้นคว้าหาความรู้เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ให้กับตนเองอยู่เสมอ
ศิริรัตน์ รุ่งเรือง (2545, หน้า 47) กล่าวว่า หนังสืออ่านเพิ่มเติม หมายถึง หนังสือที่จัดสร้างขึ้นเพื่อให้เด็กได้อ่านเสริมประสบการณ์ความรู้ และความเข้าใจโดยมีเนื้อหาของหนังสืออิงหลักสูตร หรือนำเนื้อหาในหลักสูตรมาขยายให้กว้างลึกซึ้ง มีรายละเอียดเฉพาะเรื่องมากกว่า การดำเนินเรื่องเรียบเรียงให้สนุกสนานเร้าใจ แฝงเนื้อหาสาระเหมาะสมกับวัยและความสามารถในการอ่านของแต่ละบุคคล ซึ่งโรงเรียนควรจัดไว้ เนื่องจากหนังสืออ่านเพิ่มเติมเป็นอุปกรณ์การสอนที่มีความสำคัญไม่น้อยกว่าแบบเรียน ครูควรให้เด็กอ่านเพื่อเพิ่มพูนความรู้ยิ่งขึ้น
กล่าวโดยสรุป หนังสืออ่านเพิ่มเติม หมายถึง หนังสือที่สร้างขึ้นโดยยึดหลักสูตรเป็นแนวทางในการเขียน เพื่อให้นักเรียนอ่านเสริมประสบการณ์เพิ่มเติมให้นักเรียนได้มีความรู้ ในเรื่องที่ต้องการศึกษาค้นคว้าได้อย่างลึกซึ้งขึ้น โดยคำนึงถึงความสามารถในการอ่านของเด็กเป็นสำคัญ

2. ลักษณะสำคัญของหนังสืออ่านเพิ่มเติม
สมพร จารุนัฏ (2540, หน้า 5-8) ได้เสนอลักษณะที่สำคัญของหนังสืออ่านเพิ่มเติม ดังนี้
1. ส่งเสริมความรู้ หนังสืออ่านเพิ่มเติมควรมีเนื้อหาสาระที่เกี่ยวกับความรู้ หรือทักษะ ความคิดรวบยอด และหลักการ หรือทฤษฎีเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือหลายเรื่อง ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านในการดำรงชีวิต การศึกษาหาความรู้ รวมทั้งก่อให้เกิดความเจริญงอกงาม และพัฒนาการในด้านต่าง ๆ
2. ส่งเสริมสติปัญญา หนังสืออ่านเพิ่มเติม ควรส่งเสริมหรือเปิดโอกาสให้ ผู้อ่านได้พัฒนาทักษะในการสังเกต ตีความ เปรียบเทียบ ใช้เหตุและผลจำแนกแจกแจง วิเคราะห์ ประเมินค่า ตลอดจนสามารถนำความรู้และทักษะเหล่านั้นไปใช้ให้เป็นประโยชน์ในการ แก้ปัญหาต่าง ๆ
3. ส่งเสริมเจตคติที่เหมาะสม หนังสืออ่านเพิ่มเติมนอกจากเสนอเนื้อหาสาระที่เป็นความรู้และส่งเสริมสติปัญญาแล้ว ยังสอดแทรกแนวความคิด ที่ช่วยให้ผู้อ่านเกิดเจตคติ ที่เหมาะสม ในการนำความรู้นั้นไปใช้ตามแนวทางที่พึงประสงค์ เป็นประโยชน์แก่ตนและ แก่ส่วนรวม
4. ส่งเสริมความเข้าใจ หนังสืออ่านเพิ่มเติมควรเสนอเนื้อหาสาระในลักษณะที่ส่งเสริมให้ผู้อ่านสามารถทำความเข้าใจเรื่องราวได้กล่าวคือใช้ภาษาที่ถูกต้องและพอเหมาะแก่ความรู้และประสบการณ์ ทางด้านการใช้ภาษาของผู้อื่น เสนอเนื้อหาตามลำดับขั้นตอนของความรู้ (content structure) และพัฒนาการทางสติปัญญาของผู้อ่าน ให้ตัวอย่างที่เหมาะสม ตลอดจน ใช้เทคนิควิธีการหรือส่งเสริมความเข้าใจอื่น ๆ เช่น ภาพประกอบ แผนภูมิ ตาราง คำถาม อภิธานศัพท์ เป็นต้น
5. ส่งเสริมการศึกษาหาความรู้ด้วยตนอง หนังสืออ่านเพิ่มเติมควรมีลักษณะที่กระตุ้นให้ผู้อ่านเกิดความสนใจ และกระตือรือร้นที่จะศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง กล่าวคือผู้เขียนควรพิจารณาเสนอเรื่องราวที่เด็กแต่ละวัยสนใจ เน้นให้ความสำคัญและประโยชน์เรื่องราวที่เสนอซึ่งสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน ผู้อ่านอาจไปศึกษาให้กว้างขวางลึกซึ้งตามความสนใจ
ศักดิ์ศรี ปาณะกุล ประพิมพ์พรรณ สุวรรณวงศ์ และนพคุณ คุณาชีวะ (2551, หน้า 191-192 อ้างใน นันโท อ่อนเจริญ, 2546, หน้า 18) อธิบายลักษณะของหนังสืออ่านเพิ่มเติมเอาไว้ ดังนี้
1. เป็นหนังสือที่สามารถสนองความต้องการของนักเรียนได้
2. เป็นหนังสือที่เหมาะสมกับวัยและความสนใจของนักเรียน
3. เป็นหนังสือที่เหมาะสมกับความรู้และความสามารถของนักเรียนที่อ่าน ซึ่งได้แก่ ความเหมาะสมในการใช้ภาษา ประสบการณ์และสิ่งแวดล้อมของนักเรียน และความเป็นเรื่องจริงใกล้ตัวนักเรียนมากที่สุด
4. เป็นหนังสือที่ให้แง่คิดในด้านคุณธรรม จริยธรรม หรือสุภาษิตสอนใจ
5. เป็นหนังสือที่มีเนื้อเรื่อง มีแก่นสารและมีสาระถูกต้อง เนื้อหาความเป็นจริงมี คุณค่าต่อชีวิต มีประโยชน์ น่าสนใจ ให้ความเพลิดเพลิน เกิดความคิด อยากค้นคว้าหาความรู้ เพิ่มเติม
เทียมจันทร์ ศรีสังข์ (2542, หน้า 12-13) อธิบายคุณลักษณะของหนังสืออ่านเพิ่มเติม
ที่ดีไว้ ดังนี้
1. ด้านเนื้อหา เนื้อหาของหนังสืออ่านเพิ่มเติม ต้องสอดคล้องกับหลักสูตร ซึ่งอาจจะไม่ครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมดของหลักสูตรก็ได้ นอกจากนี้แล้วเนื้อหาต้องมีความทันสมัยและถูกต้อง ผู้อ่านได้ความรู้ ความเพลิดเพลินจากการอ่านและสามารถสรุปเรื่องราวหรือใจความสำคัญได้
2. ด้านโครงสร้าง ควรมีรูปแบบหรือโครงสร้างที่เหมะสมที่สุด ที่สามารถสื่อ เนื้อหาสาระหรือความคิดให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจเรื่องราวในหนังสือได้มากและดีที่สุด
3. ด้านการนำเสนอเนื้อหา ต้องมีเอกภาพ มีสัมพันธภาพ และมีจุดเน้น เพื่อ ทำให้น่าสนใจและเข้าใจเนื้อหาได้ง่ายขึ้น
4. ด้านการใช้ภาษาต้องใช้ภาษาที่ถูกต้องตามหลักภาษา สามารถเข้าใจได้ง่าย สื่อความหมายชัดเจน เหมาะสมกับวัยและความสามารถของผู้อ่าน
5. ด้านการออกแบบรูปเล่ม ต้องออกแบบให้เหมาะสมทั้งขนาด และรูปเล่มภาพประกอบ ตัวอักษร เป็นต้น
6. ด้านการนำไปใช้ เป็นสื่อประกอบการเรียนการสอน ต้องสามารถนำไปใช้เป็นสื่อประกอบการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กล่าวโดยสรุป ลักษณะที่สำคัญของหนังสืออ่านเพิ่มเติม เป็นการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ ส่งเสริมสติปัญญา รวมทั้งการศึกษาแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง สามารถสนองความต้องการผู้เรียนได้ ช่วยขยายความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาของหลักสูตรให้กว้างไกลยิ่งขึ้น

3. รูปแบบการเขียนหนังสืออ่านเพิ่มเติม
สมพร จารุนัฏ (2540, หน้า 8-9) ได้กล่าวถึงรูปแบบการเขียนหนังสืออ่านเพิ่มเติม ว่า อาจจัดทำได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับความสันทัดจัดเจนของผู้เขียน จุดมุ่งหมายและธรรมชาติของเนื้อหาสาระของหนังสือ ตลอดจนวัยและประสบการณ์ของผู้อ่าน อาจจำแนกประเภทของการเขียนหนังสืออ่านเพิ่มเติมได้หลายรูปแบบ ได้แก่
1. รูปแบบอธิบาย สามารถจำแนกแยกประเภทย่อยออกไปได้หลายรูปแบบ เช่น การเขียนให้ความหมาย บอกเหตุผล อภิปราย เปรียบเทียบ แสดงกระบวนการ เสนอปัญหาและแก้ไข วิเคราะห์ หรือการเขียนตามเกณฑ์ เป็นต้น
2. รูปแบบพรรณนา
3. รูปแบบบรรยาย
4. รูปแบบนิยายหรือนิทาน
5. รูปแบบคำประพันธ์
ทั้งนี้รูปแบบของการเขียนหนังสืออ่านเพิ่มเติมขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของ ผู้เรียน จุดมุ่งหมายและธรรมชาติของเนื้อหาสาระของวิชาที่จะนำมาเขียน วัยของผู้อ่าน เหล่านี้ เป็นต้น
ส่วนใหญ่หนังสือที่มุ่งเสนอความรู้ ความคิดรวบยอด หลักการ และทฤษฎีเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งมักจะนำเนื้อหาในรูปแบบอธิบายความมากกว่ารูปแบบอื่น และโดยทั่วไปแล้ว หนังสือเล่มหนึ่งมักจะเสนอเนื้อหามากกว่ารูปแบบเดียว

4. การจัดทำหนังสืออ่านเพิ่มเติมและรูปเล่ม
จินตนา ใบกาซูยี (ม.ป.ป., หน้า 146-214 อ้างใน นันโท อ่อนเจริญ 2546, หน้า 22) อธิบายว่า ในการจัดทำหนังสืออ่านเพิ่มเติมให้มีประสิทธิภาพนั้นควรดำเนินการเป็นลำดับ ขั้นตอน ดังต่อไปนี้
1. วางแผนการเขียน เป็นการวางแผนการเขียนล่วงหน้า เพื่อใช้เป็นหลักการหรือเป็นแนวทางในการเขียน ซึ่งขั้นตอนการวางแผนการเขียน มีดังต่อไปนี้
1.1 กำหนดประเภทหนังสือ และกำหนดแนวในการเขียนให้ตรงตามจุดประสงค์
ของหนังสือประเภทนั้น ๆ รวมทั้งตรงกับความสนใจของเด็กด้วย
1.2 กำหนดจุดประสงค์ของการเขียน เพื่อให้การเขียน หรืออ่านนั้นๆ มี เป้าหมาย ทิศทางที่ชัดเจน
1.3 กำหนดระดับผู้อ่าน กลุ่มเป้าหมาย เพื่อใช้เป็นแนวทางในการเขียนให้ตรงกับระดับอายุ เพศ และความสนใจในการอ่าน
1.4 กำหนดเนื้อหา หรือหัวข้อเรื่องให้ตรงกับเนื้อหาในหลักสูตร หรือตามความสนใจและความต้องการอ่านตามวัยของเด็ก
1.5 กำหนดชื่อเรื่อง ให้สอดคล้องกับหัวข้อเรื่อง และโครงสร้างของเนื้อหา เพื่อให้ผู้อ่านสามารถคาดคะเนได้ว่า เนื้อหาภายในเป็นเรื่องอะไร
1.6 กำหนดโครงสร้างเนื้อหาหรือโครงเรื่องให้เห็นชัดเจน โดยคำนึงถึงโครงสร้างเนื้อหาทางวิชาการเป็นสำคัญ
1.7 กำหนดแนวการเขียน ให้สม่ำเสมอตลอดทั้งเล่ม ซึ่งส่วนใหญ่ จะเป็นการเขียนแบบร้อยแก้วและเป็นแบบความเรียง
1.8 กำหนดแหล่งข้อมูลค้นคว้าอ้างอิง เพื่อสะดวกในการนำเสนอข้อมูล มาใช้
4.2 การจัดรูปเล่ม
จินตนา ใบกาซูยี (2534, หน้า17-27) ได้กล่าวถึงรูปเล่มของหนังสือว่า หนังสือเด็กควรมีขนาดกะทัดรัด ไม่ใหญ่ กว้างหรือยาว หรือเล็กเกินไป เพราะเด็กจะถือไม่สะดวก การกำหนดรูปเล่มยังเกี่ยวข้องกับราคาหนังสือ เพราะมีส่วนสัมพันธ์กับการตัดขนาดของโรงพิมพ์ ถ้าขนาดรูปเล่มใหญ่ทำให้การตัดกระดาษมีเศษเหลือมาก หรือไม่ได้มาตรฐานกับการตัดกระดาษของโรงพิมพ์ทำให้ค่าใช้จ่ายในการพิมพ์มากขึ้น ขนาดรูปเล่มที่นิยมจัดทำกันมาก ได้แก่
1. ขนาดพ็อกเก็ตบุก
2. ขนาดสิบหกหน้ายก
3. ขนาดสิบแปดหน้ายก
มาลินี ผโลประการ (2540, หน้า 9-13) ได้กล่าวถึงรูปเล่มของหนังสืออ่าน เพิ่มเติม หมายถึง ส่วนต่าง ๆ ที่ประกอบเป็นเล่มหนังสือ คือขนาดของหนังสือ การพิมพ์หนังสือให้ได้ราคาที่ประหยัด ต้องกำหนดขนาดเล่มให้พอดีกับกระดาษที่พิมพ์ โดยไม่ต้องตัดทิ้ง แต่การที่จะกำหนดว่าหนังสือเล่มใด ใช้ขนาดใด ต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมกับผู้ใช้กับลักษณะวิชาด้วยความหนาของหนังสือประมาณจากขอบเขตเนื้อหาวิชานั้น ซึ่งวิเคราะห์จากเนื้อหารายวิชา และจุดประสงค์ของหลักสูตรกระดาษที่ใช้พิมพ์ ควรพิจารณาเลือกใช้กระดาษที่มีคุณภาพพอสมควร เช่น กระดาษปอนด์ซึ่งเป็นกระดาษเนื้อขาวอย่างดี เก็บไว้ได้นาน ไม่กรอบง่าย และไม่เปลี่ยนสี ทนทานกว่า แต่ราคาจะสูงกว่ากระดาษบรู๊ฟ ซึ่งมีสีไม่ขาว เนื้อไม่เรียบ หากเก็บนานเกิน 1 ปี กระดาษจะกรอบเป็นสีแดง ส่วนกระดาษอาร์ต ผิวหน้าเรียบและมันมีราคาแพง พิมพ์ภาพสีได้สวยงาม เป็นต้น
4.3 การทำเล่ม หนังสือปกอ่อน ทำได้ 3 วิธีคือ
4.3.1 วิธีเย็บอกหรือเย็บกลาง
4.3.2 วิธีเย็บสันหรือสันทากาว
4.3.3 วิธีเย็บกี่
4.4 การทำภาพประกอบ ต้องพิจารณาจากลักษณะของเนื้อหาวิชาระดับชั้น ชนิดของกระดาษที่ใช้พิมพ์ว่า ควรเป็นภาพสี ภาพขาวดำ ภาพถ่าย ภาพวาด ให้คุ้มค่าพิมพ์

5. ความสำคัญและคุณค่าของการอ่านหนังสือ
นภาลัย สุวรรณธาดา (2524, หน้า 527-537) ได้กล่าวว่า ในสมัยโบราณที่ยังไม่มีตัวหนังสือ มนุษย์ใช้วิธีเขียนบันทึกความทรงจำเรื่องราวต่าง ๆ เป็นรูปภาพไว้ตามฝาผนังในถ้ำ เพื่อเป็นทางออกของอารมณ์เพื่อเตือนความจำ หรือเพื่อบอกเล่าให้ผู้อื่นรับรู้ด้วย แสดงถึงความพยายาม และความปรารถนาอันแรงกล้าของมนุษย์ที่จะถ่ายทอดประสบการณ์ของตนเป็นสัญลักษณ์ที่คงทนตลอดเวลา
จากภาพเขียนตามผนังถ้ำได้วิวัฒนาการจนเป็นภาพเขียนและหนังสือปัจจุบัน หนังสือกลายเป็นสิ่งสำคัญยิ่งต่อมนุษย์ จนอาจกล่าวได้ว่า เป็นปัจจัยอันหนึ่งในการดำรงชีวิต คนไม่รู้หนังสือแม้จะดำรงชีวิตอยู่ได้ ก็เป็นชีวิตที่ไม่สมบูรณ์ ไม่มีความเจริญ ไม่ประสบความสำเร็จใด ๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานแก่สมาชิกห้องสมุดทั่วประเทศ มีใจความตอนหนึ่งว่า
หนังสือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการพัฒนาทั้งหลาย ทั้งอาชีพ ความรู้ วิชาการ ทั้งการค้นคว้า และในที่สุด ความพอใจในทางจิตของมนุษย์ชั้นสูงสุด จนกระทั่งถ้าคนใดอยากมีความรู้ด้านจิตวิทยา หรือในด้านปรัชญา จนกระทั่งอยากที่จะเรียนทางธรรมะ หรือศาสนา จนกระทั่งเป็นคนที่สามารถไปสู่ความสุขที่จริง คือความนิ่งในจิตใจเป็นผู้รอบรู้แท้ ๆ ก็ย่อมต้องอาศัยหนังสือ เพราะหนังสือเป็นการสะสมความรู้ และทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์ได้สร้างมา ทำมา คิดมาแต่โบราณกาลจนทุกวันนี้ หนังสือจึงเป็นสิ่งสำคัญคล้ายธนาคารความรู้
ดังนั้นการอ่านหนังสือ เปรียบเสมือนกุญแจที่ไขไปสู่ขุมคลังแห่งวิทยาการ ทั้งปวง หนังสือและการอ่านจึงมีความสำคัญต่อบุคคลทั่วไป และต่อนักเรียนเป็นอย่างยิ่งในการส่งเสริมการอ่าน ครูควรชี้ให้นักเรียนเห็นคุณค่าของการอ่าน ซึ่งเป็นแนวทางในการเลือกหนังสือด้วยคุณค่าดังกล่าวมี ดังนี้
5.1 คุณค่าทางอารมณ์ หนังสือที่ให้คุณค่าทางอารมณ์ ได้แก่ หนังสือประเภท
วรรณคดีที่มีความสวยงามทั้งถ้อยคำ น้ำเสียง ลีลาในการประพันธ์ ตลอดจนความงามในเนื้อหา ที่มีใช้ในหนังสือ จะแทรกตำราวิชาการเพียงอย่างเดียวหรืออาจแทรกอารมณ์ไว้ด้วยไม่มากก็น้อย เพื่อให้น่าอ่าน และสนองอารมณ์ของผู้อ่านในด้านต่าง ๆ
5.2 คุณค่าทางสติปัญญา หนังสือย่อมให้คุณค่าทางสติปัญญา ได้แก่ ความรู้และความคิดเชิงสร้างสรรค์ มิใช่ความคิดในทางทำลาย ความรู้ในที่นี้รวมถึง ความรู้ทางการเมือง สังคม ภาษา และสิ่งต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านเสมอ หนังสืออาจปรากฏอยู่ในรูปของเศษกระดาษ ถุงกระดาษก็ได้ แต่จะให้คุณค่าช่วยแก้ปัญหาที่คิดไม่ได้มานาน ทั้งนี้ย่อมสุดแล้วแต่วิจารณญาณและพื้นฐานของผู้อ่านด้วยคุณค่าทางสติปัญญา จึงมิใช่ขึ้นอยู่กับหนังสือเท่านั้น หากขึ้นอยู่กับผู้อ่านด้วย
5.3 คุณค่าทางสังคม การอ่าน เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบต่อกันมาแต่โบราณ หากมนุษย์ไม่มีนิสัยในการอ่าน วัฒนธรรมคงสูญสิ้นไป ไม่มีการสืบทอดมาจนบัดนี้ วัฒนธรรมทางภาษา การเมือง การประกอบอาชีพ การศึกษา ฯลฯ เหล่านี้ต้องอาศัยหนังสือและการอ่านเป็นเครื่องมือเผยแพร่และพัฒนาให้คุณค่าแก่สังคม หนังสือและผู้อ่านจึงอาศัยซึ่งกันและกัน เป็นเครื่อง
สืบทอดวัฒนธรรมของมนุษย์ในสังคมที่เจริญแล้ว การอ่านจึงให้คุณค่าทางสังคมในทุกด้าน

6. ความสนใจในการอ่านของเด็ก
การจัดทำหนังสืออ่านเพิ่มเติมในด้านการเขียนเนื้อเรื่อง ผู้เขียนหนังสือต้องรู้ความต้องการความสนใจในการอ่านของเด็กแต่ละวัย ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการเขียนหนังสือ การใช้ภาษา ความสั้นยาวของเรื่อง การดำเนินเรื่อง เมื่อเปรียบเทียบกับผู้อ่านมีความสามารถในการอ่านเพียงใด มีความเข้าใจเรื่องมากน้อยเพียงใด เพื่อจะผลิตหนังสือได้ตอบสนองความต้องการของผู้อ่านในวัยต่าง ๆ
จินตนา ใบกาซูยี (2534, หน้า 26-28) ได้กล่าวถึงเด็กวัยมัธยมศึกษาตอนต้น หรือวัยก่อนวัยรุ่น (12-14) วัยนี้เป็นวัยที่เริ่มย่างเข้าสู่วัยรุ่นอย่างจริงจัง เห็นได้อย่างชัดเจน เมื่อเด็กอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ 2 ซึ่งเป็นช่วงระยะเชื่อมต่อกันระหว่างวัยเด็กและวัยรุ่น มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากทั้งในด้านร่างกาย โดยเฉพาะอวัยวะที่เกี่ยวกับรูปร่าง ขนาด และเสียง รวมทั้งอารมณ์ จิตใจ และอุปนิสัยใจคอ ตลอดจนความชอบและความถนัดต่าง ๆ ความ เปลี่ยนแปลงเหล่านั้น เห็นได้อย่างชัดเจนในระยะนี้ เด็กวัยนี้เริ่มแสดงความเป็นตัวเองมากขึ้น เชื่อฟังเพื่อนและครูมากกว่าพ่อแม่ เริ่มเลือก และสนใจ เฉพาะสิ่งที่ตนเองพอใจ ชอบเข้ากลุ่มเพื่อนที่มีความพอใจในสิ่งเดียวกันได้ตามความสามารถของตน ในด้านความสนใจนั้น ในระยะนี้ทั้งสองเพศเริ่มแสดงความแตกต่างในสิ่งที่ชอบไม่เหมือนกัน เด็กหญิงจะเข้ากลุ่มเพศเดียวกัน ที่มีอุปนิสัยและความชอบเหมือนกัน ในขณะที่เด็กชายจะเลือกเพื่อนชายที่ชอบทำกิจกรรมเหมือนกัน เช่น บางกลุ่มที่ชอบเล่นกีฬา ดนตรี หรืออ่านหนังสือ หรือบางกลุ่มสนใจกีฬาที่เล่นเป็นทีม มีกติกา กฎเกณฑ์ มีการแข่งขัน เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล ว่ายน้ำ บางกลุ่มชอบค้นคว้าประดิษฐ์ เครื่องมือวิทยาศาสตร์ ทำของเล่นจากไฟฟ้า ต่อวิทยุ บางคนชอบปลูกต้นไม้ ชอบเลี้ยงสัตว์ ส่วนใหญ่ชอบอ่านหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการค้นคว้าทดลอง กีฬา หรืองานอดิเรกที่ตนชอบ เรื่องการ์ตูน กำลังภายใน ตลก ชื่นชอบนักร้องคนโปรด ชอบฟังเพลงวิทยุ และเทปชอบเต้นตามจังหวะเพลง ส่วนรายการโทรทัศน์ชอบรายการร้องเพลง คอนเสิร์ต ละครวัยรุ่น เรื่องตลก กีฬาประเภทที่ชื่นชอบ เกมส์โชว์ ทายปัญหา เป็นต้น กลุ่มเด็กหญิงมีความจริงจังในการเรียนมากกว่าเด็กชาย เด็กชายชอบดูกีฬามากกว่าเป็นผู้เล่น สนใจ สิ่งประดิษฐ์และการฝีมือ สนใจแต่งกายตามกลุ่มนิยม ชอบอ่านนิยายรักหวานแหววโรแมนติก นิยายชีวิตเกี่ยวกับครอบครัว เกี่ยวกับมิตรภาพเพื่อนรัก คอลัมน์ขำขัน เรื่องสั้น ๆ จากหนังสือพิมพ์ นิตยสาร วารสารของเด็กและวัยรุ่น ชอบเก็บสะสมภาพเกี่ยวกับสิ่งสวยงาม ภาพดารา นักร้องและนักกีฬาที่ชื่นชอบ คอนเสิร์ต เพลง เกมส์โชว์ หนังทีวี และละครชีวิตที่เบาสมองแนวกระจุ๋มกระจิ๋มหรือเรื่องราวในครอบครัวและรายการสัมภาษณ์บุคคลหรือดาราที่ชื่นชอบ

7. การใช้ภาษาของบุคคลแต่ละวัย
นันทกาญจน์ อาจิณาจารย์ (2544, หน้า 18) ได้กล่าวถึงการใช้ภาษาของบุคคล แต่ละวัย โดยมีหัวข้อย่อยดังนี้ 1) เด็กกับการใช้ภาษา 2) วัยรุ่นกับการใช้ภาษา ซึ่งแต่ละหัวข้อมีรายละเอียด ดังนี้
1. เด็กกับการใช้ภาษา กล่าวถึงลักษณะทั่วไปตามพัฒนาการวัยเด็กแรกเกิดจนถึง 12 ปี และการใช้ภาษาสื่อสาร คือลักษณะพัฒนาการทางร่างกาย ในระยะ 2-4 ขวบ เด็กรู้จักฝึกบังคับอวัยวะต่าง ๆ ในการพูดออกเสียงคำต่าง ๆ ได้ถูกต้อง ลักษณะพัฒนาการทางอารมณ์ เด็กวัย 3-5 ปี ยังยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง จนอายุระหว่าง 10-20 ปี เริ่มเรียนรู้ผลของอารมณ์ที่ตนกระทำต่อบุคคลอื่น สามารถเข้าใจผู้อื่นและรู้จักพิจารณาสิ่งต่าง ๆ โดยไม่ยึดตนเองเพียงอย่างเดียว พัฒนาการทางสังคมระยะแรก เด็กยังยึดตนเอง ทำให้การเข้าสังคมไม่สามารถปรับตนให้ดีนัก จนอายุเข้าสู่วัยรุ่น การยึดตนเองน้อยลง มีการปรับตนเองเพื่อให้ได้รับการยอมรับ และวัยนี้เป็นวัยที่ชอบการแข่งขัน พัฒนาการทางสติปัญญา เด็กเริ่มเรียนรู้วิธีการแก้ปัญหาจากตนเองเป็นศูนย์กลางเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น และเด็กจะสามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่าง ๆ จากการรับรู้ ภาษา ถ้อยคำ ที่เป็นภาษาหนังสือ ทั้งภาษาพูด และภาษาเขียนได้กว้างขวางขึ้น
2. วัยรุ่นกับการใช้ภาษา เด็กวัยนี้เติบโตเต็มที่พร้อมที่จะรับสารต่าง ๆ ได้ทุกชนิด เด็กวัยนี้สนใจอ่านหนังสือนวนิยาย และวรรณคดีมากที่สุด ประเภทผจญภัย สืบสวน ชีวิตรัก ตามลำดับ ทั้งนี้ เพราะเรื่องราวต่าง ๆ ในนวนิยาย วรรณคดีที่อ่าน ทำให้เด็กวัยนี้มีความเข้าใจชีวิต ซึ่งกำลังอยู่ในความสงสัยของเขามากขึ้นและตัวละครในหนังสือยังอาจเป็นแบบอย่างแก่การประพฤติปฏิบัติของวัยรุ่นในสังคมได้
นอกจากพัฒนาการทางภาษา ของเด็กวัยนี้เจริญงอกงามเต็มที่ เด็กวัยรุ่นจึงสามารถใช้ภาษาได้กว้างขวางโดยเฉพาะที่รู้ในหมู่พวกเดียวกัน เพื่อพยายามสร้างเอกลักษณ์ของกลุ่ม ดังจะเห็นได้ว่าภาษาแสลงต่าง ๆ เช่น นิ้ง วิ้ง ซ่าส์ กิ๊ก เป็นต้น ซึ่งมักจะมาจากเด็กวัยรุ่นถ่ายทอดลักษณะความคิดฝันของตนไว้อย่างประณีตทั้งที่เป็นภาษาพูด ภาษาเขียนอีกด้วย

8. หลักเกณฑ์การวิเคราะห์หนังสือ
นารีรัตน์ อยู่กิจติชัย (2520, หน้า 38) ได้ให้หลักเกณฑ์การวิเคราะห์หนังสืออ่าน เพิ่มเติมด้านรูปเล่ม ดังนี้
1. ด้านรูปเล่ม
1.1 ขนาดรูปเล่มพอเหมาะ หมายถึง ขนาดไม่ใหญ่หรือหนาเกินไป ควรให้ นักเรียนหยิบอ่านสะดวก
1.2 ขนาดตัวพิมพ์พอเหมาะ หมายถึง ขนาดตัวพิมพ์ที่นักเรียนสามารถอ่านได้ชัดเจน เช่น 20 ฝอยทอง ตัวพิมพ์ควรมีลักษณะพิเศษ เพื่อเน้นข้อความสำคัญบางตอน
1.3 กระดาษดี หมายถึง กระดาษที่มีความหนาพอสมควรและน่าอ่าน กระดาษ ไม่บางจนเห็นรอยพิมพ์อีกด้านหนึ่ง ซึ่งไม่สะดวกต่อการอ่าน ควรเป็นกระดาษฟอกขาวหรือกระดาษปอนด์
1.4 คุณภาพในการพิมพ์ดี หมายถึง การพิมพ์ ตัวสะกดการันต์ สระ พยัญชนะ วรรณยุกต์ และเครื่องหมายต่าง ๆ ถูกต้องหมึกไม่เลอะตามขอบตัวพิมพ์ ตามหน้ากระดาษ หรือบริเวณภาพประกอบ ควรจัดเว้นที่ว่างรอบขอบทั้งสี่ด้าน
1.5 ปกและชื่อเรื่องดึงดูดใจ หมายถึง ปกมีภาพสอดคล้องกับเนื้อเรื่อง การให้สีดึงดูดใจน่าอ่านชื่อเรื่องน่าสนใจ และเหมาะสมตามเนื้อเรื่อง
1.6 การเข้าเล่ม หมายถึง นักเรียนสามารถเปิดอ่านได้สะดวก มีการเย็บเล่ม ที่ทนทานพอสมควร กระดาษไม่หลุดหรือฉีกขาดง่าย
2. ด้านเนื้อเรื่อง
2.1 ช่วยเสริมความรู้ตามหลักสูตรให้กว้างขวาง หมายถึง เนื้อเรื่องช่วยเสริม เพิ่มเติมความรู้ในหนังสือเรียนให้กว้างยิ่งขึ้น พอเหมาะกับนักเรียนจะช่วยเสริมการเรียนการสอน ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
2.2 เนื้อเรื่องมีคุณค่า หมายถึง เนื้อเรื่องให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์มีคุณค่าต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เนื้อเรื่องให้ข้อคิด คติสอนใจ ปลูกฝังให้มีความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ส่งเสริมค่านิยมอันดี เช่น ให้รู้จักคุณค่า และความงามของศิลปวัฒนธรรม ปูชนียสถาน และวัตถุสำคัญของชาติ ให้มีใจกว้างยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น เป็นต้น
2.3 เนื้อเรื่องทันสมัย หมายถึง ให้ความรู้ ข้อมูลที่ใช้ได้ในปัจจุบัน เนื้อเรื่องเหมาะสมกับสภาพเหตุการณ์ในสังคมปัจจุบัน
2.4 วิธีการนำเสนอเนื้อเรื่องชวนอ่าน หมายถึง การวางเค้าโครงเรื่อง การ เรียบเรียงเนื้อเรื่องชวนติดตามอ่าน วิธีการเขียนไม่เป็นวิชาการจนเกินไป การเรียงลำดับเรื่อง ไม่สับสน
เพลินพิศ กอบตระกูล (2539 : บทคัดย่อ) ได้สร้างหนังสืออ่านเพิ่มเติม เรื่องการอนุรักษ์สัตว์น้ำสำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โดยหาเกณฑ์มาตรฐานของหนังสืออ่านเพิ่มเติม และหาประสิทธิภาพของหนังสืออ่านเพิ่มเติม ตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 ผลการทดลองปรากฏว่าหนังสืออ่านเพิ่มเติมที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นมีประสิทธิภาพ 86.67/83.33 เป็นไปตามเกณฑ์ประสิทธิภาพ 80/80 ที่กำหนดไว้
จันทรา ทองสมัคร (2541 : บทคัดย่อ) ได้สร้างหนังสืออ่านเพิ่มเติม เรื่องประเพณี ท้องถิ่นนครศรีธรรมราชสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยศึกษาความคิดเห็นของอาจารย์ผู้สอนวิชาท้องถิ่นของเรา และนักเรียนที่เรียนวิชาท้องถิ่นของเรา ที่มีต่อหนังสืออ่านเพิ่มเติม เรื่องประเพณีท้องถิ่นนครศรีธรรมราชที่สร้างขึ้น ผลการวิจัยพบว่า อาจารย์และนักเรียนมีความคิดเห็นด้านคุณค่าและประโยชน์ที่ได้รับอยู่ในระดับเห็นด้วยมากที่สุด ส่วนด้านเนื้อเรื่อง ด้านการใช้ภาษา ด้านภาพประกอบ อาจารย์และนักเรียนมีความคิดเห็นอยู่ในระดับเห็นด้วยมาก และนักเรียนมีความคิดเห็นด้านรูปเล่มและการพิมพ์อยู่ในระดับเห็นด้วยมาก ที่สุด แต่อาจารย์มีความคิดเห็นอยู่ในระดับเห็นด้วยมาก
สมทรง พิทักษ์พิเศษ (2541 : บทคัดย่อ) ได้สร้างหนังสืออ่านเพิ่มเติม เรื่อง วัฒนธรรมท้องถิ่นไทยรามัญ จังหวัดราชบุรี สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น จังหวัดราชบุรี เพื่อเป็นสื่อประกอบการเรียนการสอนรายวิชา ส 071 ท้องถิ่นของเรา 1 ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โดยใช้วิธีวิจัยในการศึกษาค้นคว้าเอกสาร เก็บข้อมูลภาคสนาม วิเคราะห์ สังเคราะห์ แล้วนำมาเขียนเรียบเรียงเป็นหนังสืออ่านเพิ่มเติม และหาประสิทธิภาพของหนังสือ ผลการวิจัย พบว่า (1) ประสิทธิภาพของหนังสืออ่านเพิ่มเติมในด้านเนื้อหาสาระมีความถูกต้องร้อยละ 94.16 (2) ประสิทธิภาพของหนังสืออ่านเพิ่มเติมที่ประเมิน โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาหนังสือ มีระดับคะแนนเฉลี่ยโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี (3) ประสิทธิภาพของหนังสืออ่านเพิ่มเติมที่ประเมิน โดยนักเรียนมีระดับคะแนนเฉลี่ยโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี และ (4) คุณภาพของหนังสืออ่านเพิ่มเติมที่ประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาหนังสือ และนักเรียนมีความสอดคล้องกันในด้านคุณค่าและประโยชน์ที่ได้รับอยู่ในเกณฑ์ดีมาก
ชณัฐดา ฤทธิ์แดง (2542 : บทคัดย่อ) ได้สร้างหนังสืออ่านเพิ่มเติม เรื่องประเพณี ท้องถิ่นสมุทรปราการสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยหาประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 และการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังการอ่านหนังสือ เพิ่มเติม เรื่องประเพณีท้องถิ่นสมุทรปราการ ผลการวิจัยพบว่า (1) หนังสือส่งเสริมการอ่าน ที่ ผู้วิจัยสร้างขึ้น มีประสิทธิภาพ 87.78/86.67 เป็นไปตามเกณฑ์ประสิทธิภาพ 80/80 ที่กำหนดไว้ (2) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่องประเพณีท้องถิ่นสมุทรปราการหลังการอ่านหนังสืออ่านเพิ่มเติม เรื่องประเพณีท้องถิ่นสมุทรปราการ สูงกว่าก่อนการอ่าน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
นันทกาญจน์ อาจิณาจารย์ (2544 : บทคัดย่อ) ได้สร้างหนังสืออ่านเพิ่มเติม เรื่องประเพณีท้องถิ่นระยองสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น จังหวัดระยอง โดยศึกษาความ คิดเห็นของอาจารย์ที่สอนวิชาท้องถิ่นของเราและผู้เรียนวิชาท้องถิ่นของเราที่มีต่อหนังสืออ่าน เพิ่มเติม เรื่องประเพณีท้องถิ่นระยองที่สร้างขึ้น ผลการวิจัยพบว่า อาจารย์มีความคิดเห็นด้าน คุณค่าและประโยชน์ที่ได้รับ อยู่ในระดับเห็นด้วยมากที่สุด ส่วนด้านรูปเล่มและการพิมพ์ ด้าน เนื้อหา ด้านการใช้ภาษาด้านภาพประกอบ แผนภูมิ มีความคิดเห็นอยู่ในระดับเห็นด้วยมาก แต่ นักเรียนมี ความเห็นทุกด้าน คือรูปเล่มและการพิมพ์ ด้านเนื้อหา การใช้ภาษา ด้านภาพประกอบ แผนภูมิและด้านคุณค่าและประโยชน์ที่ได้รับอยู่ในระดับเห็นด้วยมาก
นุชนารถ ยิ้มจันทร์ (2546 : บทคัดย่อ) ได้สร้างหนังสืออ่านเพิ่มเติม เรื่องฮีตสิบสอง ในวิถีชีวิตชาวศรีสะเกษ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น จังหวัดศรีสะเกษ ผลการวิจัย พบว่า (1) คุณภาพของหนังสืออ่านเพิ่มเติมที่ประเมินโดยผู้ทรงคุณวุฒิด้านเนื้อหา มีความถูกต้องร้อยละ 99.00 (2) คุณภาพของหนังสืออ่านเพิ่มเติม ที่ประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาหนังสือ มีระดับคะแนนเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์ดี (3) คุณภาพของหนังสืออ่านเพิ่มเติม ที่ประเมินโดยนักเรียนอยู่ในเกณฑ์ดี
นันโท อ่อนเจริญ (2546 : บทคัดย่อ) ได้สร้างและทดลองใช้หนังสืออ่านเพิ่มเติมเรื่องศาสนาสากล ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม สำหรับนักเรียนในระดับช่วงชั้นที่ 4 ของกลุ่มโรงเรียนในสหวิทยาเขตนครหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ผลการวิจัย พบว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้อหา ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาหนังสือหรือการเขียน ครูผู้สอนและ นักเรียนมีความคิดเห็นเกี่ยวกับด้านเนื้อหา ด้านการสอน ด้านการใช้ภาษาและด้านคุณประโยชน์ของหนังสืออ่านเพิ่มเติม เรื่องศาสนาสากล สอดคล้องกันว่าเหมาะสมในระดับมาก สำหรับความคิดเห็นด้านคุณลักษณะรูปเล่ม และเทคนิคการพิมพ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้อหา มีความคิดเห็นอยู่ในระดับมากที่สุด แต่กลุ่มอื่น ๆ มีความคิดเห็นสอดคล้องกันในระดับมาก
จากงานวิจัยสรุปได้ว่า การสร้างหนังสืออ่านเพิ่มเติม สามารถใช้เป็นสื่อประกอบ การเรียนการสอนได้ดี ทั้งในระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ซึ่งช่วยให้เกิดนิสัยรักการอ่าน รู้จักแสวงหาความรู้เพิ่มเติมจากแหล่งความรู้ต่าง ๆ ปลูกฝังให้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ช่วยให้นักเรียนมีอิสระในการเลือกอ่านหนังสือ ได้ตามความสามารถของตน

เอกสารเกี่ยวกับการหาประสิทธิภาพของหนังสืออ่านเพิ่มเติม
หนังสืออ่านเพิ่มเติมจัดเป็นนวัตกรรมประเภทหนึ่งในการศึกษา โกวิท ประวาลพฤกษ์
และคณะ (ม.ป.ป., หน้า 65) ได้กล่าวถึงพิสูจน์ประสิทธิภาพของนวัตกรรมไว้ ดังนี้
1. ประสิทธิภาพของนวัตกรรมอยู่ที่คุณภาพของกระบวนการที่กำหนด โดยนวัตกรรมนั้นที่ทำให้ผู้ที่ปฏิบัติหรือผู้ใช้สามารถประสบความสำเร็จตรงตามวัตถุประสงค์ของนวัตกรรม แนวทางพิสูจน์ประสิทธิภาพอาจทำได้หลายทาง เช่น บรรยายเปรียบเทียบสภาพก่อนและหลังใช้นวัตกรรม จากการทดลองใช้กับกลุ่มเล็ก ๆ
2. นิยามตัวบ่งชี้ที่แสดงผลลัพธ์ที่ต้องการแล้วเปรียบเทียบข้อมูล ก่อนใช้กับหลังใช้นวัตกรรมคำนวณค่าร้อยละของนักเรียน (P1) ที่สอบผ่านแบบทดสอบอิงเกณฑ์ที่กำหนด จุดผ่านไว้ P 2% ของคะแนนเต็ม เช่น P1: P2 = 80:80 หรือ 80:60
หาประสิทธิภาพของนวัตกรรมการสอน
โดยใช้สูตร E1/E2

โดย E1 =
E2 =

เมื่อ คือ คะแนนรวมการฝึกปฏิบัติระหว่างทาง
คือ คะแนนรวมของการทดสอบหลังการใช้นวัตกรรม
A, B คือ คะแนนเต็มของการทดสอบ 2 ฉบับ ตามลำดับ
N คือ จำนวนนักเรียน
จีรารัตน์ ชิรเวทย์ (2542, หน้า 181) ได้เสนอเกณฑ์มาตรฐานในการหาประสิทธิภาพของสื่อการสอนโดยใช้เกณฑ์มาตรฐาน 90/90 ไว้ 2 รูปแบบ คือ

1. เกณฑ์มาตรฐาน 90/90
90 ตัวแรก หมายถึง ค่าเฉลี่ยของผลรวมของคะแนนที่นักเรียนทั้งหมดทำแบบทดสอบหลังเรียนคิดเป็นร้อยละไม่ต่ำกว่า 90
90 ตัวหลัง หมายถึง ความสามารถของนักเรียนทุกคนเมื่อเรียนบทเรียนแล้วสามารถทำแบบทดสอบแต่ละข้อได้ถึงร้อยละ 90
2. เกณฑ์มาตรฐาน 90/90
90 ตัวแรก หมายถึง นักเรียนสามารถตอบคำถามในบทเรียนได้ถูกต้องเฉลี่ย ร้อยละ 90
90 ตัวหลัง หมายถึง นักเรียนสามารถทำแบบทดสอบหลังเรียนได้ถูกต้องเฉลี่ยร้อยละ 90 ของนักเรียนทั้งหมด
การยอมรับหรือไม่ยอมรับประสิทธิภาพของนวัตกรรม หรือสื่อการเรียนการสอน
ชัยยงค์ พรหมวงค์ (2528, หน้า 490) ได้เสนอการยอมรับเกณฑ์การผ่านประสิทธิภาพของนวัตกรรมได้ดังนี้คือ ให้ทราบค่า E1/E2 ของนวัตกรรมที่หาได้ E1/E2 เกณฑ์ เพื่อดูว่าจะยอมรับหรือไม่ การยอมรับประสิทธิภาพแปรปรวน 2.5-5 เปอร์เซ็นต์นั้นคือประสิทธิภาพของนวัตกรรม ไม่ควรต่ำกว่าเกณฑ์ 5 เปอร์เซ็นต์ แต่โดยปกติเราจะกำหนดไว้ 2.5 เปอร์เซ็นต์ เช่น เราตั้งเกณฑ์ประสิทธิภาพไว้ 90/90 เมื่อทดลองแล้วนวัตกรรมมีประสิทธิภาพ 87.5/87.5 เราก็สามารถยอมรับได้ว่าชุดการสอนนั้นมีประสิทธิภาพ
การยอมรับประสิทธิภาพของนวัตกรรมมี 3 ระดับ คือ 1) สูงกว่าเกณฑ์ 2) เท่าเกณฑ์ 3) ต่ำกว่าเกณฑ์แต่ยอมรับว่ามีประสิทธิภาพ

เอกสารเกี่ยวกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หมายถึง ความรู้ ความเข้าใจ ความสามารถและทักษะด้านวิชาการ รวมทั้งสมรรถภาพทางสมองด้านต่าง ๆ เช่น ระดับสติปัญญา การคิด การแก้ปัญหา ต่าง ๆ ของเด็ก ซึ่งเห็นได้จากคะแนนที่ได้จากแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หรือรายงานทั้งเขียนและพูด การทำงานที่ได้รับมอบหมาย ตลอดจนการทำการบ้านในแต่ละรายวิชา
ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเป็นพฤติกรรม หรือความสามารถของบุคคลที่เกิดจากการเรียน
การสอน เป็นพฤติกรรมที่พัฒนางอกงามขึ้นมาจากการฝึกอบรมสั่งสอนโดยตรงซึ่งประกอบด้วยพฤติกรรม 6 ประเภท ได้แก่ ความรู้ ความจำ ความเข้าใจ การนำไปใช้ การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ และการประเมินค่า (พวงรัตน์ ทวีรัตน์, 2530, หน้า 9)

1. การวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
พวงรัตน์ ทวีรัตน์ (2530, หน้า 9) ได้กล่าวถึงการวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนว่า เป็นการตรวจสอบความรู้ ทักษะและสมรรถภาพสมองด้านต่าง ๆ ของผู้เรียนว่าหลังจาก การเรียนรู้เรื่องนั้นแล้ว ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถในวิชาที่เรียนมากน้อยเพียงใด มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมตามความมุ่งหมายของหลักสูตรในวิชานั้น ๆ เพียงใด
สมบูรณ์ ชิตพงศ์ (2537, หน้า 491-493) กล่าวถึงการวัดสมรรถภาพสมองหรือการวัดความสามารถด้านความรู้ ความคิดว่า ประกอบไปด้วย ความรู้ความจำ ความเข้าใจ การนำไปใช้ การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ การประเมินค่า ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
1. ความรู้ - ความจำ เป็นความสามารถทางสมองในอันที่จะทรงไว้หรือรักษาไว้ซึ่ง เรื่องราวต่าง ๆ ที่บุคคลได้รับรู้เข้าไว้ในสมอง
1.1 ความรู้ - ความจำเฉพาะอย่าง จำแนกได้เป็น 2 ข้อย่อย คือ
1.1.1 ความรู้ความจำเกี่ยวกับศัพท์และนิยาม ได้แก่ พวกความหมาย และคำจำกัดความของสิ่งต่าง ๆ
1.1.2 ความรู้ความจำเกี่ยวกับกฎและความจริง ได้แก่ พวกกฎ สูตร ทฤษฎี และข้อเท็จจริงต่าง ๆ
1.2 ความรู้ความจำในสิ่งที่เป็นวิธีการดำเนินการ จำแนกได้ 5 ข้อย่อย คือ
1.2.1 ความรู้ความจำเกี่ยวกับระบบแบบแผน ได้แก่ สิ่งที่เป็นแบบฟอร์มหรือระเบียบปฏิบัติ
1.2.2 ความรู้ความจำเกี่ยวกับ ลำดับขั้นและแนวโน้ม เป็นความรู้ในเรื่องลำดับ ขั้นตอนและแนวโน้มในการกระทำหรือการเกิดขึ้นของสิ่งของ เรื่องราวและปรากฏการณ์ต่าง ๆ
1.2.3 ความรู้ความจำเกี่ยวกับการจัดประเภท เป็นความรู้ในการแยกพวกตามความเหมือน ความแตกต่างกันตามคุณลักษณะคุณสมบัติและหน้าที่ของสิ่งของเรื่องราวหรือปรากฏการณ์ต่าง ๆ
1.2.4 ความรู้ความจำเกี่ยวกับเกณฑ์ เป็นความรู้ในสิ่งที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการวินิจฉัย และตรวจสอบข้อเท็จจริงต่าง ๆ โดยคำนึงว่าจะวินิจฉัยหรือตรวจสอบสิ่งของเรื่องราว หรือปรากฏการณ์นั้นโดยใช้เกณฑ์อะไร
1.2.5 ความรู้ความจำเกี่ยวกับวิธีการเป็นความรู้เกี่ยวกับวิธีการในอันที่จะได้มาของผลลัพธ์ที่ต้องการว่า ต้องใช้เทคนิควิธีการใดบ้าง
1.3 ความรู้ความจำในสิ่งที่เป็นความคิดรวบยอด ในเรื่องความคิดรวบยอด หัวใจของเรื่องทั้งหลาย พฤติกรรมแบ่งเป็น 2 ข้อย่อย คือ
1.3.1 ความรู้ความจำหลักวิชา และการขยายหลักวิชา หลักวิชาเป็นใจความสำคัญของเรื่องนั้น ส่วนการขยายหลักวิชา เป็นการนำหลักที่ได้ไปอธิบายเรื่องอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกัน
1.3.2 ความรู้ความจำทฤษฎี และโครงสร้าง เป็นความสามารถในการนำ หลาย ๆ หลักวิชาซึ่งอยู่ในสกุลเดียวกันมาสัมพันธ์กัน จนได้ออกมาเป็นโครงสร้างของเนื้อความใหญ่ในเรื่องนั้น
2. ความเข้าใจ เป็นความสามารถรู้ในการสื่อความหมายระหว่างตนเองกับผู้อื่น ความเข้าใจแยกได้ 3 ข้อย่อย คือ
2.1 การแปลความ เป็นความสามารถในการบอกความหมายตามนัยเรื่องราวหรือปรากฏการณ์นั้น ๆ
2.2 การตีความ เป็นการสรุปความจากหลายความหมายตามนัยของเรื่อง หรือปรากฏการณ์นั้นว่าจากการที่หลาย ๆ ส่วนในเรื่องราวหรือปรากฏการณ์นั้น ๆ เป็นอย่างใดอย่างหนึ่งแสดงว่าเรื่องราวหรือปรากฏการณ์นั้นเป็นอย่างไร
2.3 การขยายความ เป็นการคาดคะเน หรือพยากรณ์ไปสู่กาลหน้า (หรือ ถอยหลัง) โดยอาศัยข้อเท็จจริง
3. การนำไปใช้ เป็นความสามารถในการนำความรู้ ทฤษฎี หลักการ ข้อเท็จจริง ไปแก้ปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้น ความสามารถในการนำไปใช้ เป็นการแก้ปัญหาซึ่งเป็นเรื่องราวหรือเหตุการณ์ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นแล้วบุคคลสามารถนำสิ่งที่เป็นประสบการณ์ไปแก้ปัญหานั้นๆ ได้สำเร็จ
4. การวิเคราะห์ เป็นความสามารถในการแยกแยะเรื่องราวใด ๆ ออกเป็นส่วน ย่อย ๆ ว่าสิ่งเหล่านั้นประกอบกันอยู่เช่นไร พฤติกรรมนี้แยกได้เป็นข้อย่อย คือ
4.1 วิเคราะห์ความสำคัญ เป็นความสามารถในการหาส่วนประกอบที่สำคัญของ เรื่องราวหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ในปรากฏการณ์นั้น ๆ
4.2 วิเคราะห์ความสัมพันธ์ เป็นความสามารถในการหาความสัมพันธ์ของส่วนต่าง ๆ
4.3 วิเคราะห์หลักการ เป็นความสามารถในการหาหลักการความสัมพันธ์ของส่วนสำคัญในเรื่องราวหรือปรากฏการณ์นั้น ๆ ว่ามีความสัมพันธ์โดยอาศัยหลักใด
5. การสังเคราะห์ เป็นความสามารถในการประกอบส่วนย่อย ๆ ให้เข้ากันอย่างเป็นเรื่องราว โดยการจัดระบบโครงสร้างเสียใหม่ให้มีความเหมาะสม และมีประสิทธิภาพยิ่งกว่าเดิม พฤติกรรมนี้แยกได้เป็น 3 ข้อย่อย คือ
5.1 สังเคราะห์ข้อความ เป็นความสามารถในการเรียบเรียงถ้อยคำ ให้ผูกพันกันเป็นเรื่องราวเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งการผูกเรื่องราวนี้ ต้องอาศัยข้อมูลหลายอย่าง มาสนับสนุนทั้งยังอาจต้องยกตัวอย่างประกอบใส่ความคิดเห็นส่วนตัว เพื่อช่วยให้ข้อความที่เขียนกระจ่างชัดได้ความหมาย
5.2 สังเคราะห์แผนงาน เป็นความสามารถในการสร้างโครงการหรือแผนในการ
ทำงานต่าง ๆ การวางโครงการเป็นความสามารถในการที่จะนำเสนอข้อมูล เรื่องราวที่กำหนดให้ มาหาวิธีว่าจะทำอย่างไรจึงจะทำให้เรื่องที่ศึกษา ข้อมูลเหล่านี้สามารถดำเนินการไปสู่เป้าหมายได้สำเร็จ
5.3 สังเคราะห์ความสัมพันธ์ เป็นความสามารถในการจัดระบบข้อเท็จจริง หรือส่วนประกอบเสียใหม่ให้สำเร็จเป็นชิ้นเป็นอันที่ได้ประโยชน์หรือมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ความสามารถด้านการคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ก็เป็นส่วนหนึ่งของพฤติกรรมด้านสังเคราะห์ความสัมพันธ์
6. การประเมินค่า เป็นความสามารถในการตัดสินราคา โดยอาศัยเกณฑ์ และมาตรา ที่วางพฤติกรรมด้านการประเมินค่า แบ่งเป็น 2 ข้อย่อย คือ
6.1 ประเมินโดยอาศัยข้อเท็จจริงภายใน ตามลักษณะข้อเท็จจริงภายในเรื่อง นั้น ๆ ข้อเท็จจริงภายในคือข้อเท็จจริงที่เป็นเนื้อหาสาระสิ่งนั้นนั่นเอง
6.2 ประเมินโดยอาศัยข้อเท็จจริงภายนอก เป็นการวินิจฉัยตีราคา โดยเปรียบเทียบเรื่องราวกับสิ่งอื่น ๆ มิใช่เฉพาะข้อเท็จจริงในเรื่องราวหนึ่ง ๆ

2. การเขียนข้อสอบวัดลักษณะและระดับพฤติกรรม
ลักษณะและพฤติกรรมในการสอบวัด ถ้าพิจารณา Taxonomy ของบลูม (Bloom) แล้วความสามารถทางสมอง (Cognitive Domain) จำแนกได้ 6 ระดับ คือ ความรู้-ความจำ (Knowledge and memory) ความเข้าใจ (Comprehension) การนำไปใช้ (Application) การวิเคราะห์ (Analysis) การสังเคราะห์ (Synthesis) และการประเมินค่า (Evaluation) ซึ่งแต่ละระดับความสามารถทางสมองนั้น (วิรัช วรรณรัตน์, 2543, หน้า 41-48) ได้เสนอแนวการสอบวัดโดยสรุป ดังนี้
2.1 ความรู้ความจำ หมายถึง ความสามารถในการระลึกถึงเรื่องราวต่าง ๆ จาก ประสบการณ์ ลักษณะการสอบวัดระดับความรู้ความจำพิจารณาได้ ดังนี้
2.1.1 ลักษณะการถาม : การระลึกเรื่องราว ตามตำรา ตามคำสอน ตาม
แบบฝึก ตามตัวอย่าง
2.1.2 ลักษณะการสอบวัด : ถามคำแปล ความหมาย ความจริง ในเรื่องกฎ-
กติกา
: ถามหน้าที่คุณสมบัติ ความสำคัญ ชนิด/ประเภท
: ถามแบบแผน แบบฟอร์ม ประเพณี
: ถามลำดับขั้น แนวโน้ม ขั้นตอน วิธีการ
: ถามข้อสรุป หลักการ ลักษณะเด่น ลักษณะเฉพาะ
2.2 ความเข้าใจ หมายถึง ความสามารถในการจำประเด็นเรื่องราว และความ สามารถในการอธิบายชี้แจงประเด็นหรือข้อเท็จจริง ลักษณะการสอบวัดความเข้าใจสามารถพิจารณาได้ ดังนี้
2.2.1 ลักษณะการถาม : แปลความ สรุปความ และขยายความตามนัยของ
เรื่องราวสถานการณ์ ข้อเท็จจริง
2.2.2 ลักษณะการสอบวัด : อธิบายความหมายตามนัยของเรื่อง
: ถามเปรียบเทียบ เปรียบเปรย ลักษณะหน้าที่
: ถามการจับใจความสำคัญ การสรุปเรื่องราว
ข้อเท็จจริง
: ถามโดยยกสถานการณ์ ตัวอย่าง หรือพฤติกรรม
อาการ
: ถามคาดคะเนความคิดเหตุการณ์ และสถานการณ์
โดยอาศัยข้อมูล
2.3 การนำไปใช้ หมายถึง ความสามารถในการประยุกต์หลักการเรื่องราวไปแก้ ปัญหาในสถานการณ์ใหม่ ลักษณะการสอบวัดระดับการนำไปใช้ พิจารณาได้ดังนี้
2.3.1 ลักษณะการถาม : การแก้ปัญหา การคิดคำนวณในสถานการณ์ใหม่
หรือสถานการณ์ที่มีลักษณะคล้ายเดิม
2.3.2 ลักษณะการสอบวัด : ถามหลักวิชาการ ความสอดคล้องของการปฏิบัติ
โดยการยกตัวอย่างจริง สถานการณ์จริง กับหลัก
วิชา
: ถามการแก้ปัญหาภายในเงื่อนไขและสถานการณ์
ที่กำหนด
: ถามการเลือกใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ เครื่องใช้
: ถามวิธีการขั้นตอนปฏิบัติและลักษณะการกระทำ
ในสถานการณ์จริง
: ถามการใช้ภาษา
2.4 การวิเคราะห์ หมายถึง ความสามารถในการพินิจพิจารณา แยกแยะประเด็นของเรื่อง ลักษณะการสอบวัดระดับการวิเคราะห์พิจารณาได้ ดังนี้
2.4.1 ลักษณะการถาม : การแยกแยะประเด็นเรื่องราว หรือปัจจัยหรือ
องค์ประกอบสำคัญ
2.4.2 ลักษณะการสอบวัด : ถามหาสาเหตุ ต้นตอ เลศนัย
: ถามจุดมุ่งหมายที่สำคัญ ความสำคัญของประเด็น
: ถามผลที่เกิด เหตุผล หลักการ ข้อสรุป
: ถามความสอดคล้อง อิทธิพลของความเกี่ยวข้อง
และความเหมือน ความต่างของประเด็น
2.5 การสังเคราะห์ หมายถึง การผสมผสานประเด็นรายละเอียดของเรื่องเป็นข้อสรุป หรือข้อยุติที่แปลงใหม่ ลักษณะการวัดการสังเคราะห์ พิจารณาได้ ดังนี้
2.5.1 ลักษณะการถาม : เน้นการสื่อความ การวางแผนงาน-โครงการ
อนุมานความคิด การหาข้อยุติ การอภิปราย
2.5.2 ลักษณะการสอบวัด : เน้นการปฏิบัติจริง โดยให้แสดงออกโดยการพูด
การเขียน การทำจริง การแสดง บทบาทท่าทาง
การปฏิบัติตามโครงการ
2.6 การประเมินค่า หมายถึง ความสามารถในการตัดสินคุณค่าการวินิจฉัยเรื่องราวหรือข้อเท็จจริงอย่างมีหลักเกณฑ์ ลักษณะการวัดระดับการประเมินค่านี้ พิจารณา ดังนี้
2.6.1 ลักษณะการถาม : ถามความคิดเห็นการตัดสินการติชมการวิพากษ์
วิจารณ์เรื่องราว โดยมีหลักเกณฑ์สนับสนุน
2.6.2 ลักษณะการสอบวัด : ยกสถานการณ์เรื่องราวข้อเท็จจริงให้ประเมิน
ความถูกต้องความเหมาะสมหรือความคิดเห็น
โดยอาศัยเกณฑ์ตามเนื้อหาวิชาหลักการเรื่องราว
หรือเกณฑ์ที่สังคมยอมรับ
3. การเขียนข้อสอบแบบบรรยาย
วิรัช วรรณรัตน์ (2543, หน้า 48-49) ได้เสนอแนวการเขียนข้อสอบแบบบรรยายไว้ ดังต่อไปนี้
1. ข้อสอบแบบบรรยาย (Essay test) หรือมักถูกเรียกว่า ข้อสอบอัตนัย (Subjective test) แบบทดสอบลักษณะนี้มีข้อจำกัดเฉพาะของแต่ละครั้งการสอบการออกข้อสอบจะต้องระวัง ความไม่ชัดเจนของตัวคำถาม ความไม่ชัดเจนในการตรวจให้คะแนน และความไม่ครอบคลุมครบถ้วนในสาระเนื้อหา
2. ความชัดเจนของตัวคำถาม หมายถึง การอ่านคำถามแล้วเข้าใจประเด็นในการถามได้ตรงกัน ดังนั้นในการเขียนคำถามจึงควรระมัดระวังในเรื่องนี้ โดยการสร้างแบบทดสอบ จะต้องกำหนดกรอบในการตอบและประเด็นในการถาม
3. ความชัดเจนในการตรวจให้คะแนน หมายถึง การตรวจให้คะแนนจะต้องมี หลักเกณฑ์ในการให้คะแนนการตรวจสอบให้คะแนนไม่ขึ้นอยู่กับอารมณ์หรือความรู้สึกของ ผู้ตรวจ ดังนั้นการตรวจให้คะแนนแบบทดสอบแบบบรรยาย จึงควรกำหนดประเด็น เรื่อง เป็นตอน ๆ และกำหนดสัดส่วนหรือน้ำหนักคะแนนในแต่ละประเด็น เรื่องราว ทั้งนี้เพื่อให้ระบบคะแนนมีความเชื่อถือได้
4. ความครอบคลุมครบถ้วนในสาระเนื้อหา หมายถึง การถามที่ครบถ้วนประเด็นสำคัญและครอบคลุมเนื้อหา เรื่องราวที่ทำการสอนตามหลักสูตรที่กำหนด

4. ข้อจำกัดของข้อสอบแบบบรรยาย
1. ถามได้น้อยข้อ เนื่องจากการสอบแต่ละครั้ง ใช้เวลาจำกัด การถามต้องถามเฉพาะเรื่องหรือได้น้อยข้อ จึงทำให้ข้อสอบที่จะนำมาใช้สอบขาดความครอบคลุมครบถ้วน
2. ตรวจยากและใช้เวลาในการตรวจ เพราะการเขียนตอบ ต้องใช้ความสามารถในการเขียนที่ตรงประเด็นกับลักษณะคำถาม ถ้าผู้ออกข้อสอบไม่ได้กำหนดขอบเขต ประเด็น ในการตอบ จะทำให้ตรวจข้อสอบค่อนข้างยาก เพราะประเด็นการถาม การตอบไม่ชัดเจนและ ถ้ามีผู้สอบจำนวนมากตอบข้อสอบมากด้วยแล้ว เวลาที่ใช้ตรวจย่อมมากขึ้นด้วยเพราะต้องอ่านคำตอบที่เขียนโดยบรรยายอย่างเสรี และปริมาณจำนวนมาก ดังนั้นในการออกข้อสอบจึงควรกำหนดขอบเขตในการตอบและกำหนดเกณฑ์ในการตรวจให้คะแนนไว้ด้วย



5. การเลือกใช้แบบทดสอบแบบบรรยาย
การเลือกใช้แบบทดสอบแบบบรรยายควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับเงื่อนไขและ สภาวะการณ์ คือต้องการวัดความสามารถเฉพาะด้าน แบบทดสอบแบบบรรยาย ต้องการมุ่งเน้น นำเสนอความคิดในการแก้ปัญหาการแสดงความคิดเห็น การวิพากษ์วิจารณ์ ตลอดจนลำดับ ขั้นตอนในการปฏิบัติงาน การเลือกใช้จึงต้องใช้ให้เหมาะสมกับจุดประสงค์ โดยเฉพาะต้องการให้แสดงความสามารถด้านการเขียนเมื่อมีจำนวนผู้สอบน้อย แบบทดสอบแบบบรรยายเหมาะ ที่จะใช้กับกลุ่มผู้สอบที่มีจำนวนไม่มากเกินไป เพราะถ้าผู้สอบมีจำนวนมาก การตรวจให้คะแนนจะต้องใช้เวลาในการอ่านและตรวจ ซึ่งจะทำให้แนวคิดของผู้ตรวจแปรเปลี่ยน และเกิดความเหนื่อยล้า อันจะเป็นเหตุทำให้สภาวะของผู้ตรวจไม่คงที่ การตรวจคะแนนอาจคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง
เพื่อให้มีความมั่นใจในการตรวจให้คะแนนการตรวจให้คะแนนแบบทดสอบบรรยายจะต้องกำหนดเกณฑ์การให้คะแนน เป็นขั้นเป็นตอน หรือตามประเด็นที่ถาม นอกจากนั้นต้องมีเวลามากพอ ในการตรวจและมีความยุติธรรมในการตรวจให้คะแนน ความมั่นใจในคุณภาพคำถาม คำถามที่ใช้แบบทดสอบแบบบรรยายจะต้องมีความชัดเจนต่อการสื่อความมีกรอบ ประเด็นในการถาม การตอบ มีแง่มุม ขอบข่ายที่เฉพาะ ไม่ถามกว้างจนไร้ขอบเขต โดยคำถาม มีความชัดเจนที่ผู้สอบทุกคน อ่านแล้วเข้าใจประเด็นได้ตรงกัน

6. แนวคิดในการเขียนข้อสอบแบบบรรยาย
6.1 ใช้คำถามที่ชัดเจนในการสื่อความและมีเงื่อนไขพอเพียงต่อการตอบ
6.2 กำหนดประเด็น กรอบ ในการถาม- ตอบ
6.3 ทำทุกข้อเหมือนกัน ไม่ควรเลือกตอบบางข้อ
6.4 แจ้งเกณฑ์การตรวจให้คะแนนในแต่ละขั้นตอน แต่ละประเด็น
6.5 หลักการตรวจให้คะแนน
6.6 ให้คะแนนตามเกณฑ์ ตามประเด็นที่กำหนด
6.7 ตรวจทีละข้อเป็นข้อ ๆ ไป
6.8 พิจารณางานเขียนทุกขั้นตอน
6.9 ตรวจทาน ผลการตรวจให้คะแนน
6.10 ไม่ลำเอียงในการตรวจให้คะแนน


เอกสารเกี่ยวกับเจตคติ
ความหมายของเจตคติ คำว่าเจตคติ เจตคติหรือทัศนคติ ได้มีผู้ให้ความหมายไว้หลายท่าน ดังนี้
เชิดศักดิ์ โฆวาสินธุ์ (2520, หน้า 28) กล่าวว่า เจตคติเป็นความรู้สึกส่วนบุคคลที่มีต่อสิ่งต่าง ๆ อันเป็นผลเนื่องมาจากความรู้และประสบการณ์เป็นตัวกระตุ้นให้บุคคลแสดงพฤติกรรม หรือแนวโน้มที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้านั้น ๆ ไปในทางใดทางหนึ่งอาจเป็นไปในทางสนับสนุนหรือคัดค้านก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกระบวนการอบรมให้รู้ระเบียบวิธีของสังคม (Socialization) ซึ่งเจตคตินี้จะแสดงออกหรือปรากฏให้เห็นชัด ในกรณีสิ่งเร้านั้นเป็นสิ่งเร้าทางสังคม
ล้วน สายยศ และอังคณา สายยศ (2543, หน้า 54) สรุปความหมายของเจตคติ หรือ ทัศนคติว่า เป็นความรู้สึก เชื่อ ศรัทธา ต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใด จนเกิดความพร้อมที่แสดงการกระทำ ออกมา ซึ่งอาจไปในทางดีหรือไม่ดีก็ได้ เจตคติยังไม่เป็นพฤติกรรม แต่เป็นตัวการที่จะทำให้เกิด พฤติกรรม ดังนั้นเจตคติจึงเป็นคุณลักษณะของความรู้สึกที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในใจ จึงสรุปนิยามเจตคติที่สอดคล้องกัน 4 ประการ คือ มีความโน้มเอียงที่ตอบสนอง มีความคงทนตลอดเวลา มีความคงเส้นคงวาและมีทิศทาง
ดวงเดือน พันธุมนาวิน (2518, หน้า 81) ได้ให้ความหมายของเจตคติว่า เป็นความรู้สึกที่แสดงออกอย่างมั่นคงต่อบุคคลหรือสถานการณ์ซึ่งอาจเป็นไปในทางที่ดี ขัดแย้งหรือเป็นกลาง ก็ได้ ซึ่งเป็นผลของการรับรู้เกี่ยวกับลักษณะที่ดีหรือเลว ของบุคคลหรือสถานการณ์นั้น ๆ
พิสมัย วิบูลย์สวัสดิ์ (2518, หน้า 81) กล่าวว่า เจตคติเป็นความเชื่อและความรู้สึกเชิงปริมาณการของบุคคลที่มีต่อสิ่งต่าง ๆ ซึ่งผ่านเข้ามาในประสบการณ์ของบุคคล ความรู้สึกเชิงปริมาณการนี้เป็นได้จากบวกเป็นลบ ทำให้บุคคลพร้อมที่จะแสดงออกตอบโต้ต่อสิ่งต่าง ๆ
ออลพอร์ต (Allport, 1935, p. 418) ให้ความหมายของเจตคติ (Attitude) คือ ความรู้สึกเอนเอียงของเจตคติที่มีต่อประสบการณ์ที่เราได้รับ ซึ่งมีความรู้สึกทางบวก (Positive Attitude) คือ ความพอใจ เห็นด้วยชอบ และความรู้สึกในทางลบ (Negative Attitude) คือความไม่พอใจ ไม่เห็นด้วย ไม่ชอบ เจตคติเป็นส่วนหนึ่งของบุคลิกภาพอันประกอบด้วย ความรู้ ความเข้าใจ และอารมณ์
สรุปได้ว่า เจตคติ หมายถึง ความเชื่อ ความรู้สึกเอนเอียงของจิตใจของส่วนบุคคลที่มีต่อสถานการณ์ บุคคล หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีทั้งในทางบวก เป็นกลาง หรือทางลบ เจตคติจึงมีผล ต่อการแสดงออกของพฤติกรรมของคนเราอีกด้วย องค์ประกอบของเจตคติ เจตคติมีองค์ประกอบ 3 ประการ คือองค์ประกอบด้านปัญญา องค์ประกอบด้านความรู้สึก และองค์ประกอบด้านปฏิบัติ


ประภาเพ็ญ สุวรรณ (2526, หน้า 34) กล่าวถึงองค์ประกอบของเจตคติไว้ ดังนี้
1. องค์ประกอบทางด้านพุทธิปัญญา (Cognitive component) ได้แก่ ความคิดซึ่งเป็นองค์ประกอบที่มนุษย์ใช้ในการคิด ความคิดนี้อาจจะอยู่ในรูปใดรูปหนึ่งต่างกัน ขึ้นอยู่กับความคิดของแต่ละบุคคลที่มีต่อสิ่งเร้า
2. องค์ประกอบท่าทีความรู้สึก (Affective component) เป็นส่วนประกอบทางด้านอารมณ์ ความรู้สึก ซึ่งเป็นตัวเร้าความคิดอีกต่อหนึ่ง ถ้าบุคคลนี้มีความรู้สึกที่ดีหรือไม่ดี ขณะที่คิดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แสดงว่าบุคคลนั้นมีความรู้สึกในด้านบวกและด้านลบตามลำดับต่อสิ่งนั้น
3. องค์ประกอบด้านปฏิบัติ (Behavioral component) เป็นองค์ประกอบที่มีแนวโน้มในทางปฏิบัติ หรือถ้ามีสิ่งเร้าที่เหมาะสมจะเกิดการปฏิบัติหรือปฏิกิริยาอย่างใดอย่างหนึ่ง
องค์ประกอบทั้งสามนี้มีความสัมพันธ์กันมาก บางครั้งแยกไม่ออกอย่างเด็ดขาด เช่น ถ้าบุคคลใดเคยประสบอุบัติเหตุรถยนต์คว่ำ ก็จะมีความรู้สึกด้านลบต่อรถยนต์ แต่ขณะเดียวกัน เขาก็อาจยอมรับว่า เขาจำเป็นต้องใช้รถยนต์เดินทางไปในทางที่ต่าง ๆ ซึ่งแสดงว่าเขามี องค์ประกอบทางด้านปฏิบัติไปในทางบวกและมีแนวโน้มจะใช้รถยนต์
ชูชีพ อ่อนโคกสูง (2524, หน้า 7) กล่าวว่า เจตคติอาจเปลี่ยนแปลงได้จากสาเหตุ ดังนี้
1. เมื่อได้รับข้อมูลใหม่จากบุคคลหรือสื่อมวลชน
2. เมื่อได้รับประสบการณ์ตรงหรือความสะเทือนใจหรือความประทับใจ
3. เมื่อถูกบังคับให้ต้องปฏิบัติไปนาน ๆ
4. เมื่อได้รับการรักษาทางจิต เพื่อให้เข้าใจเหตุผลที่ถูกต้องขึ้น
5. เปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมใหม่
จะเห็นได้ว่า เจตคติของบุคคลสามารถที่จะเปลี่ยนได้ในสถานการณ์หลาย ๆ อย่าง ดังกล่าวแล้ว ในทำนองเดียวกันเจตคติของนักเรียนต่อการอ่านหนังสืออ่านเพิ่มเติม เรื่อง การปลูกปาล์มน้ำมันสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่สร้างขึ้นก็มีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้ หรือเกิดขึ้นได้ทั้งทางบวกและทางลบ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดคุณภาพของหนังสือที่สร้างขึ้นได้อีกวิธีหนึ่ง
หลักเกณฑ์วัดเจตคติ ไพศาล หวังพานิช (2526, หน้า 147-148) ได้เสนอหลักการวัด เจตคติไว้ดังนี้ การวัดเจตคตินับว่าเป็นสิ่งที่มีความยุ่งยากพอสมควร เพราะเป็นการวัดคุณลักษณะภายในบุคคล ซึ่งเกี่ยวข้องกับอารมณ์และความรู้สึก หรือเป็นลักษณะของจิตใจ คุณลักษณะ ดังกล่าวมีการแปรเปลี่ยนได้ง่าย แต่อย่างไรก็ตามเจตคติของบุคคลที่มีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ก็ยังสามารถวัดได้ ซึ่งต้องอาศัยหลักสำคัญ ดังต่อไปนี้
ต้องยอมรับข้อตกลงเบื้องต้น (Basic assumption) เกี่ยวข้องกับเจตคติ คือความคิดเห็น ความรู้สึกหรือเจตคติของบุคคลนั้น จะคงที่อยู่ช่วงหนึ่ง นั้นคือความรู้สึกนึกคิดของคนเราไม่ได้เปลี่ยนแปลงหรือผันแปรตลอดเวลา อย่างน้อยก็จะมีช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ที่มีความรู้สึกของคนเรา มีความคงที่สามารถวัดได้ เจตคติของบุคคลไม่สามารถวัดหรือสังเกตเห็นได้โดยตรงการวัดจะเป็นการวัดทางอ้อม โดยวัดจากแนวโน้มที่บุคคลแสดงออกหรือประพฤติอยู่เสมอเจตคตินอกจากแสดงออกในรูปของทิศทางของความรู้สึกนึกคิด เช่น สนับสนุนหรือคัดด้าน ยังมีขนาดหรือปริมาณความคิด ความรู้สึกนั้นด้วย ดังนั้นในการวัดเจตคตินอกจากจะทำให้ทราบลักษณะหรือทิศทางแล้วยังสามารถบอกระดับความมากน้อยหรือความเข้มข้นของเจตคติไว้ด้วย
การวัดเจตคติด้วยวิธีใดก็ตามจะต้องมีสิ่งเร้าประกอบ 3 อย่าง คือ ตัวบุคคลจะถูกวัดมีสิ่งเร้า เช่น การกระทำ เรื่องราวที่บุคคลแสดงเจตคติตอบสนอง และสุดท้ายต้องมีการตอบสนอง ซึ่งจะออกมาในระดับสูงต่ำมากน้อย
สิ่งเร้าที่นิยมนำไปใช้เร้าที่นิยม คือข้อความวัดเจตคติ (Attitude statements) ซึ่งเป็นสิ่งเร้าทางภาษาที่อธิบายคุณค่าคุณลักษณะสิ่งนั้น เพื่อให้บุคคลตอบสนองออกมาเป็นระดับ ความรู้สึก (Attitude component หรือ Scale) ของการวัดเป็นพิเศษ การวัดเจตคติต้องคำนึงถึงความเที่ยงตรง (Validity) ของการวัดเป็นพิเศษ ต้องพยายามให้ผลของการวัดที่ได้ตรงกับสภาพความเป็นจริงของบุคคลทั้งในแง่ทิศทางและระดับหรือช่วงของเจตคติ
วิธีเขียนข้อความวัดเจตคติ ไพศาล หวังพานิช (2526, หน้า 188-189) กล่าวว่ามาตรการวัดเจตคติ (Attitude scale) จะประกอบด้วยคำถาม โดยทำหน้าที่เป็นตัวเร้าให้บุคคลแสดงความคิดเห็น ความรู้สึกออกมา การวัดเจตคติจะได้ผลถูกต้อง และเชื่อถือได้มากน้อยเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับคุณภาพของข้อความ ที่ได้ถามการเขียนข้อความเพื่อวัดเจตคติจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องพิจารณาโดยยึดหลัก ดังต่อไปนี้
ใช้ข้อความที่กล่าวถึงเหตุการณ์หรือเรื่องราวที่เป็นปัจจุบันหลีกเลี่ยงข้อความที่เป็นข้อเท็จจริง (Fact) เกี่ยวกับเรื่องนั้น เพราะจะกลายเป็นการตอบสนองตามความเป็นจริง ทำให้ไม่ทราบความรู้สึกหรือความคิดของบุคคล
ข้อความที่ใช้ต้องใช้คำถามที่สามารถแปลความหมายได้ คือสามารถบอกทิศทางและระดับความรู้สึกของบุคคลได้ข้อความนั้นต้องมีความเป็นปรนัย คือมีความชัดเจน มีความหมายแน่นอนไม่ใช้ภาษาวกวนข้อความหนึ่ง สามารถถามความคิดเพียงอย่างเดียว เพราะถ้ามีหลายความคิดในข้อความเดียวกัน จะกลายเป็นข้อความกำกวม ยุ่งยากต่อการเสนอความคิด เช่น ไม่ควรให้ผู้ตอบ แสดงความคิดเห็นโดยใช้ข้อความที่ว่า “การสอนแบบบรรยายทำให้น่าเบื่อ เสียเวลามาก ให้ผลการเรียนไม่ดี” ควรแยกข้อความนี้ออกเป็นหลาย ๆ ข้อความ เช่น การสอนแบบบรรยายทำให้ผู้เรียนเบื่อ การสอนแบบบรรยายทำให้ผู้เรียนขาดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ข้อความที่ใช้ควรหลีกเลี่ยงการใช้คำบางคำ เช่น เสมอ ทั้งหมด ไม่เคยเลย เท่านั้น เพียงแต่ เพียงเล็กน้อย หลีกเลี่ยงข้อความที่ไม่อาจแสดงความคิดเห็นได้ หรือข้อความที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเด็นที่จะพิจารณา เช่น ข้อความที่กล่าวนอกเรื่องที่จะศึกษาการทดสอบวัดเจตคติ ในการวัดเจตคตินั้นมีนักการศึกษาหลายท่านได้สร้างเครื่องมือวัดเจตคติไว้หลายแบบด้วยกัน เช่น การสร้างแบบเทอร์สโตน การสร้างแบบออสกูด วิธีของกัตแมน วิธีของพีชบายและวิธีสร้างแบบลิเกิต ในการศึกษาเจตคติต่อหนังสืออ่านเพิ่มเติม เรื่อง การปลูกปาล์มน้ำมัน ผู้วิจัยได้ใช้แบบทดสอบ วัดเจตคติแบบลิเกิต (Likert’s Method) ของนุชนารถ ยิ้มจันทร์ (2546, หน้า 78-80) ในการสร้างเครื่องมือวัดเจตคติแบบลิเกิต ล้วน สายยศ และอังคณา สายยศ (2543, หน้า 90-93) เสนอขั้นตอนในการสร้างไว้ ดังนี้
เครื่องมือวัดเจตคติแบบลิเกิตเรียกว่า Summated Rating Method ลิเกิตสร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1932 และเป็นวิธีที่ง่ายกว่าวิธีของเทอร์สโตน มีความเชื่อมั่นสูงและพัฒนาเพื่อวัดด้านความ
รู้สึกได้หลายอย่าง การสร้างเครื่องมือวัดเจตคติแบบนี้เป็นวิธีการประเมินน้ำหนักความรู้สึกของข้อความ ในตอนหลัง คือหลังจากเอาเครื่องมือไปสอบวัดแล้ว ซึ่งตรงข้ามกับแบบเทอร์สโตน ที่กำหนดค่าน้ำหนักของข้อความก่อนนำไปสอบ การสร้างข้อความที่แสดงความรู้สึกต่อ เป้าเจตคติจะต้องให้ครอบคลุมและสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ข้อความอาจจะเป็นทางบวกหมดหรือทางลบหมด หรือผสมกัน ก็ได้ การนำคะแนนข้อที่เห็นด้วยหรือข้อที่ไม่เห็นด้วยมาพลอตกราฟ จะเป็นรูปแบบ เป็นลักษณะที่ไปด้วยกัน (Monotonous)
ขั้นตอนการสร้างเครื่องมือวัดเจตคติแบบลิเกิต มีดังนี้
เลือกชื่อเป้าเจตคติ (Attitude Object) ก่อน เช่น เจตคติต่อคณิตศาสตร์หรือต่ออาชีพครู หรือต่อมหาวิทยาลัย เป็นต้น เป้าของเจตคติอาจจะเป็นคน วัตถุ สิ่งของ องค์กร สถาบัน อาชีพ วิชา ฯลฯ แล้วแต่จะเลือก ยิ่งแคบยิ่งดี ยิ่งกำหนดช่วงเวลาด้วยแล้ว การแปลผลก็จะทำให้ มีความหมายดีขึ้น
เขียนข้อความแสดงความรู้สึกต่อเป้าเจตคติ โดยวิเคราะห์แยกแยะดูให้ครอบคลุม ลักษณะของข้อความควรเป็น ดังนี้
1. เป็นข้อความที่แสดงความเชื่อและรู้สึกต่อเป้าที่ต้องการ
2. ไม่เป็นการแสดงถึงความเป็นจริง
3. มีความแจ่มชัด สั้น ให้ข้อมูลพอตัดสินได้
4. ไม่ครอบคลุมทั้งทางดีและไม่ดีหรือบวกและลบ
5. ควรหลีกเลี่ยงคำปฏิเสธซ้อน ข้อความอ้างอิงในอดีตที่ผ่านมา ข้อความที่มีคำว่า ทั้งหมด เสมอ ไม่เคย ไม่มีเลย เพียงเท่านั้น
6. ข้อความเดียวมีชื่อเดียว
การตรวจสอบข้อความ เป็นการตรวจสอบขั้นแรก เพื่อดูให้แน่ชัดว่า ข้อความนั้นเขียนไว้เหมาะสมดีหรือไม่ การตอบว่าจะให้ตอบว่าชอบ-ไม่ชอบ ดี-ไม่ดี หรือเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย ควรใช้มาตรา 3 มาตรา 4 มาตรา หรือ 5 มาตรา เป็นต้น การเขียนแสดงออกมาในมาตราวัดแบบลิเกิต นิยมใช้เช่น
[ ] เห็นด้วยอย่างยิ่ง [ ] ชอบที่สุด
[ ] เห็นด้วยมาก [ ] ชอบมาก
[ ] เห็นด้วย [ ] ชอบ
[ ] ไม่แน่ใจ [ ] ไม่ชอบ
[ ] ไม่เห็นด้วย [ ] ไม่ชอบอย่างมาก
[ ] ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง [ ] ไม่ชอบอย่างมากที่สุด
แต่จะเป็นลักษณะอื่น ๆ ก็ได้ แล้วแต่ข้อความที่แสดงความรู้สึก บางทีแต่ละข้อ ยังใช้ตอบ ไม่ค่อยจะเหมือนกันก็มี ใช้ที่รับกับข้อความถือว่าดีที่สุดในกรณีผู้สอบรู้จักเป้าหมายของเจตคติทุกคน เช่น เจตคติต่อวิชาเรียน โดยหลักการแล้ว กลุ่มตัวอย่างจะต้องพบเห็น และมี ประสบการณ์ ดังนั้นตัวคำตอบที่เราให้ตอบควรเป็นแบบคู่ ไม่ควรมีตรงกลางเพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่เกิดความรู้สึกหรือไม่แน่ใจ นอกจากจะไม่ค่อยสัมพันธ์กับตัวเป้านั้น การใช้ตัวเร้าคู่ จึงเป็นการให้ตัดสินเพียง 2 อย่างใหญ่ ๆ คือ เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ชอบหรือไม่
ชอบ แล้วค่อยเปลี่ยนแปลงเป็น 4 หรือ 6 ตามความต้องการ ดังตัวอย่าง
[ ] เห็นด้วยอย่างยิ่ง [ ] เห็นด้วยอย่างมาก [ ] ชอบมาก
[ ] เห็นด้วยอย่างมาก [ ] เห็นด้วย [ ] ชอบ
[ ] เห็นด้วย [ ] ไม่เห็นด้วย [ ] ไม่ชอบ
[ ] ไม่เห็นด้วย [ ] ไม่เห็นด้วยอย่างมาก [ ] ไม่ชอบเลย
[ ] ไม่เห็นด้วยมาก
[ ] ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง
การให้น้ำหนัก จะเป็น 2, 3, 4, 5 นั้นแล้วแต่ความเหมาะสม แต่การให้น้ำหนักนั้นมีวิธีการหลายวิธีด้วยกัน
วิธีการน้ำหนักแบบพลการ (Arbitrary weighting method) วิธีการเป็นการกำหนดโดยคิดว่าถ้ามากที่สุดให้ 5 ถัดมา 4 เป็น 3 เป็น 2 เป็น 1 นั่นคือ น้อยที่สุดให้เลขต่ำสุดนั่นเอง ดังเช่น

ตัวเลือก น้ำหนัก 1 น้ำหนัก 2
เห็นด้วยอย่างยิ่ง 4 5
เห็นด้วย 3 4
ไม่แน่ใจ 2 3
ไม่เห็นด้วย 1 2
ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง 0 1

ในระยะหลังลิเกิตจึงแนะนำให้ใช้วิธีการกำหนดโดยพลการได้เลย โดยให้เรียงตัวเลขเรียงค่าตามความสำคัญของตัวเร้าหรือตัวเลือกจะใช้ 0, 1, 2, 3, 4 หรือ 1, 2, 3, 4, 5 หรือ -2, -1, 0, 1, 2 ก็ได้ทั้งนั้น 3 แบบนี้สัมพันธ์เป็น 1.00 คือตัวเดียวนั่นเอง เพียงแต่เอาตัวคงที่บวกหรือลบออกเท่านั้น ตัวเลขนี้คะแนนเฉลี่ยจะเปลี่ยนแปลง แต่ความแปรปรวนคงที่

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
1. งานวิจัยภายในประเทศ
ขวัญจิต สังข์ทอง (2541 : บทคัดย่อ) ได้สร้างหนังสืออ่านเพิ่มเติม เรื่องสมุนไพรในครัวเรือนสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โดยหาคุณภาพของหนังสือที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นจากการตรวจประเมินจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านการประเมินหนังสือจำนวน 3 ท่าน ตามแบบรายงาน การตรวจประเมินหนังสือเสริมประสบการณ์ของกรมวิชาการ และหาประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 แล้วนำหนังสืออ่านเพิ่มเติมที่สร้างขึ้นไปเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ก่อนการอ่านและหลังการอ่านหนังสืออ่านเพิ่มเติมของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 60 คน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการทดสอบค่าคะแนนที (t-test) ผลการวิจัยปรากฏว่า หนังสืออ่านเพิ่มเติมวิชา วิทยาศาสตร์ เรื่องสมุนไพรในครัวเรือน สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ผ่านการประเมินจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านการประเมินหนังสือทั้ง 3 ท่าน ให้เป็นหนังสืออ่านเพิ่มเติมสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ได้ และหนังสืออ่านเพิ่มเติมมีประสิทธิภาพ 92.02/96.70 สูงกว่าเกณฑ์ 80/80 ที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ยังพบว่าคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของกลุ่มทดลองหลังการอ่านหนังสืออ่านเพิ่มเติม สูงกว่าก่อนการอ่านอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 และคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของกลุ่มทดลองหลังการอ่านหนังสืออ่านเพิ่มเติมสูงกว่ากลุ่มควบคุมที่ไม่ได้อ่าน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0 .01
ดำรงค์ นาคพันธ์ (2535 : บทคัดย่อ) ได้สร้างหนังสืออ่านเพิ่มเติม เรื่องพันธุกรรมของมนุษย์ การศึกษาครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อ 1) สร้างและหาประสิทธิภาพหนังสืออ่านเพิ่มเติมเรื่อง
พันธุกรรมของมนุษย์ สำหรับใช้อ่านเพิ่มเติม ประกอบการเรียนวิชาพันธุกรรมและการอยู่รอด (ว 015) ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 2) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยม ศึกษาปีที่ 2 ก่อนและหลังการอ่านหนังสืออ่านเพิ่มเติม เรื่องพันธุกรรมของมนุษย์ 3) ศึกษาเจตคติของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่มีต่อหนังสืออ่านเพิ่มเติม เรื่องพันธุกรรมของมนุษย์ ทำการทดลองกับนักเรียนกลุ่มตัวอย่างจากโรงเรียนฉลองรัฐราษฎร์อุทิศ จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 40 คน ประจำภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2539 การวิเคราะห์ข้อมูลการหาประสิทธิภาพใช้วิธีการหาค่าร้อยละ ทดสอบความแตกต่างของคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ก่อนและหลังการอ่านหนังสืออ่านเพิ่มเติมโดยการทดสอบค่าที (t-test ) และใช้ค่าคะแนนเฉลี่ย วิเคราะห์เจตคติต่อหนังสืออ่านเพิ่มเติมผลการศึกษาพบว่าหนังสืออ่านเพิ่มเติมเรื่องพันธุกรรมของมนุษย์ มีประสิทธิภาพ เฉลี่ย 83.80/83.55 ซึ่งผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังการอ่านหนังสืออ่านเพิ่มเติม เรื่องพันธุกรรมของมนุษย์ สูงกว่าก่อนการอ่านหนังสืออ่านเพิ่มเติม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 นักเรียนที่อ่านหนังสืออ่านเพิ่มเติม เรื่องพันธุกรรมของมนุษย์ มีเจตคติที่ดีต่อหนังสืออ่านเพิ่มเติม เรื่องพันธุกรรมของมนุษย์
นุชนารถ กตัญญสูตร (2537 : บทคัดย่อ) ได้สร้างหนังสืออ่านเพิ่มเติม เรื่อง“ ก๊าซ ธรรมชาติ” สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โดยหาคุณภาพหนังสือที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นจากการตรวจแบบประเมินของผู้ทรงคุณวุฒิในการประเมินหนังสือ จำนวน 5 ท่าน ตามแบบการตรวจหนังสือเสริมประสบการณ์ของกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ มีการทดลองใช้เพื่อหา ประสิทธิภาพของหนังสือ โดยใช้เกณฑ์ 80/80 และเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จาก ผลต่างของคะแนนก่อนและหลังการอ่านหนังสือของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 วิเคราะห์ข้อมูลโดยการทดสอบค่า t แบบเป็นอิสระ ผลการวิจัยปรากฏว่า หนังสืออ่านเพิ่มเติมที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น ผ่านการตรวจประเมินจากผู้ทรงคุณวุฒิในการประเมินหนังสือ จำนวน 5 ท่านให้เป็นหนังสืออ่านเพิ่มเติมและหาประสิทธิภาพได้ 91.72/81.44 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังการอ่านแตกต่างจากก่อนการอ่านอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.01โดยคะแนนเฉลี่ยหลังการอ่านสูงกว่าก่อนการอ่านหนังสือ


พิเชษฐ์ จิตรรัตน์ (2535 : บทคัดย่อ) ได้สร้างหนังสืออ่านเพิ่มเติม เรื่อง“การขยาย พันธุ์พืช” สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และหาคุณภาพหนังสือที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นโดยการตรวจประเมินจากผู้เชี่ยวชาญการประเมินหนังสือ จำนวน 5 ท่าน ตามแบบรายงานการตรวจหนังสือเสริมประสบการณ์ของกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ และเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังการอ่านหนังสือของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ผลการวิจัยปรากฏว่า หนังสืออ่านเพิ่มเติมที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น ผ่านการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญ การประเมินหนังสือทั้ง 5 ท่าน ให้เป็นหนังสืออ่านเพิ่มเติมสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังการอ่านหนังสือสูงกว่าก่อนการอ่านอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0 .01
อิ่มใจ เรือนเพ็ชร์ (2533 : บทคัดย่อ) สร้างหนังสืออ่านเพิ่มเติม เรื่องยางพารา สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และหาคุณภาพหนังสือที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น โดยการตรวจประเมินจากผู้เชี่ยวชาญการประเมินหนังสือ จำนวน 5 ท่าน ตามแบบรายงานการตรวจหนังสือเสริมประสบการณ์ของกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ และเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่าง ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังการอ่านหนังสือของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 40 คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยการทดสอบค่าที (t-test) ผลการวิจัยปรากฏว่า หนังสืออ่านเพิ่มเติม ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นผ่านการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญการประเมินหนังสือทั้ง 5 ท่าน ให้เป็นหนังสืออ่านเพิ่มเติมสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังการอ่านหนังสือสูงกว่าก่อนการอ่านอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01

2. งานวิจัยต่างประเทศ
แบล็กวูด (Blackwood, 1969, p. 50-56) ได้ศึกษาถึงปัจจัยที่มีผลต่อการสอนพบว่า การสอนวิทยาศาสตร์จะได้ผลดีขึ้นอยู่กับปัจจัย ต่อไปนี้
ขนาดของห้อง จำนวนชั่วโมงที่ครูสอนต่อ 1 สัปดาห์ การจัดหลักสูตรวิทยาศาสตร์ที่มีเนื้อหาเป็นระบบต่อเนื่อง การจัดหาหนังสือแบบเรียน หนังสืออ่านประกอบ และเครื่องมือให้พอกับความต้องการ มีผู้ให้ความช่วยเหลือเมื่อครูวิทยาศาสตร์ต้องการ
จากผลการวิจัยเกี่ยวกับหนังสืออ่านเพิ่มเติมสรุปได้ว่า หนังสืออ่านเพิ่มเติมมีความสำคัญในการส่งเสริมความรู้ ความพร้อม และเจตคติที่ดี หากผู้สร้างหนังสือจัดเนื้อหาให้เหมาะสมสอดคล้องกับความสนใจและความต้องการของเด็ก และยังพบว่าหนังสืออ่านเพิ่มเติมเข้าไปช่วยพัฒนาในการเรียนการสอน ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น

4 ความคิดเห็น:

  1. อาเฮีย วันนี้เริ่มเขียนบล็อก ก็เลยมาแซวเล่น
    ว่าง ๆ ไปเยี่ยมบล็อกน้องมั่ง

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ11 ตุลาคม 2554 เวลา 09:40

    ขอบคุณมากค่ะ ขอให้ประสบความสำเร็จในทุกๆเรื่อง

    ตอบลบ
  3. เป็นผลงานที่ดีขอบคุณค่ะ ที่ลงไว้เป็นวิทยาทานนะคะ ผลงานดีทีเดียว

    ตอบลบ
  4. ไม่ระบุชื่อ4 มกราคม 2557 เวลา 09:06

    อยากได้หนังสือ ของ ดร.โกวิท ประวาฬพฤกษ์ ที่คุณครูใช้อ้างอิง จะหาได้ที่ไหนคะ

    ตอบลบ